เพราะเหตุไร
จึงต้องมีศาสนาประจำชาติ ?
ถ้าชาติไม่มีศาสนาประกอบจะมีความเสียหายอย่างไร ?
ความจริงนั้น
ศาสนาที่มีอยู่ในโลกนั้นมีมากมายหลายศาสนาด้วยกัน แต่ที่นับว่าเป็นศาสนาใหญ่
ๆ ที่ชาวโลกพากันเคารพนับถือเป็นจำนวนล้าน ๆ นั้น มีอยู่ ๔ ศาสนา คือ
๑.ศาสนาพราหมณ์หรือศาสนาฮินดู ๒.ศาสนาพุทธ ๓.ศาสนาคริสต์ ๔.ศาสนามหะหมัด
มนุษย์โลกส่วนใดเรารพนับถือศาสนาใดมาแต่กำเนิด ก็มีความสำคัญว่าศาสนานั้นเป็นศาสนาที่ดีมีความถูกต้อง
ควรแก่การเคารพนับถือ จึงพากันนับถือศาสนานั้นมาตั้งแต่เกิด โดยไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนให้เกิดความรู้
แจ้งเห็นจริง และมิได้นับถือชนิดที่น้อมมาประพฤติปฏิบัติตามอย่างเป็นหลักเป็นฐาน
คนที่เคารพนับถือศาสนาประเภทนี้ ย่อมไม่ได้รับรับผลของศาสนาตามความเป็นจริง
และถูกชักจูงไปในทางที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความจริงเป็นอันมาก
คนไทยเรานั้น
เคารพนับถือ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติมาตั้งแต่ครั้งโบราณนานมาหลายร้อยปีแล้ว
ในที่นี้ ข้าพเจ้าจักพรรณาถึงเฉพาะแต่พระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติไทยแต่เพียงศาสนาเดียว
พุทธศาสนานั้นจัดเป็น
๓ ขั้นตอน คือ ปริยัติศาสนา ๑ ปฏิบัติศาสนา ๑ ปฏิเวธศาสนา ๑ ปริยัติศาสนานั้น
ได้แก่พระพุทธวจนะ คือ ที่เรียกว่า พระไตรปิฏก ปฏิบัติ ปฏิบัติศาสนานั้นได้แก่
สมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน ปฏิเวธศาสนานั้น ได้แก่อริยมรรค
๔ อริยผล ๔ และนิพพาน ๑
วิธีการนับถือพระพุทธศาสนานั้น
ก็จัดเป็น ๓ ขั้นตอนเหมือนกัน คือ ขั้นที่ ๑ นับถือพระพุทธศาสนาขั้นปริยัติ
ขั้นที่ ๒ นับถือพระพุทธศาสนาขั้นปฏิบัติ ขั้นที่ ๓ นับถือพระพุทธศาสนาขั้นปฏิเวธ
การนับถือขั้นปริยัตินั้น
ได้แก่การยอมเสียสละเวลาและกำลังกายกำลังใจเรียนพระพุทธพจน์ คือ พระไตรปิฏก
จนมีความรู้แจ้งแตกฉานในพระไตรปิฏกเป็นที่สุด
การนับถือขั้นปฏิบัตินั้น
ได้แก่การยอมเสียสละเวลาแกลกำลังกายและกำลังใจ ปฏิบัติตามความรู้ที่ได้จากการเรียนพระไตรปิฏกนั้น
ซึ่งเรียกว่า เจริญสมถกัมมัฏฐาน โดยยกเอาขันธ์ ๕ , อายตนะ ๑๒,ธาตุ
๑๘, อินทรีย์ ๒๒ ,สัจจะ ๔ และปฏิจจสมุปบาท ๑๒ อย่างใดอย่างหนึ่งมาเป็นอารมณ์ของใจ
แล้วคอยใช้สติปัญญา ตามกำหนดรู้ให้เห็นแจ้งแทงตลอดตามความจริง เพื่อให้เกิดวิปัสสนาปัญญาในขั้นต้นแล้วเร่งรัดปฏิบัติให้รัดกุมแก่กล้าขึ้น
จนส่งให้บรรลุถึงอริยมรรคทั้ง ๔ อันเป็นวิธีการที่ระงับดับกิเลสขั้นเด็ดขาด
จนไม่มีกิเลสเกิดขึ้นในจิตสันดานอีกต่อไป
การนับถือขั้นปฏิเวธนั้น
ได้แก่การบรรลุโสดาปัตติมรรคและโสดาปัตติผล สำเร็จเป็นพระโสดาบันอริยบุคคลอันเป็นโลกุตตรธรรมขั้นแรกและขั้นที่
๒ บรรลุสกทาคามิมรรคและสกทาคามิผล สำเร็จเป็นพระสกทาคามีอริยบุคคลอันเป็นโลกุตตรธรรมขั้นที่
๓ ที่ ๔ บรรลุอนาคามิมรรคและอนาคามิผล สำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคล
อันเป็นโลกุตตรธรรมขั้นที่ ๕ ที่ ๖ บรรลุอรหัตตมรรคและอรหัตตผลสำเร็จเป็นพระอรหันตอริยบุคคลอันเป็นพระอรหันตอริยบุคคลอันเป็นโลกุตตรธรรมขั้นที่
๗ ที่ ๘
บุคคลที่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนบรรลุอริยมรรคอริยผล
๘ ประการนี้ ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ พระนิพพานเป็นโลกุตตรกุศลประการที่
๙ โลกุตตรธรรมที่ได้นามว่านิพพานนั้น เพราะเหตุเป็นที่ดับกิเลส กิเลสที่นิพพานดับนั้น
ได้แก่กิเลส ๑๒ ประการ หรือที่เรียกว่าอกุศลมูลจิต ๑๒ ดวง อกุศลมูลจิต
๑๒ ดวงนั้น คือ โลภมูลจิต ๘ ดวง โทสมูลจิต ๒ ดวง โมหมูลจิต ๒ ดวง
บุคคลที่ปฏิบัติจนได้บรรลุพระนิพพานครั้งแรก
คือ เป็นพระโสดาบันอริยบุคคลนั้น ดับกิเลสได้ ๕ คือ โลภมูลจิต ๔ ดวง
โมหมูลจิต ๑ ดวง ได้บรรลุพระนิพพานครั้งที่ ๒ เป็นพรสกทาคามีอริยบุคคลนั้น
ทำกิเลสที่เหลืออีก ๗ คือ อกุศลมูลจิต ๗ ดวงให้เบาบางลง ที่มีอยู่ก็ไม่มีกำลังแรงพอที่จะส่งให้ไปบังเกิดในอบายภูมิทั้ง
๔ ได้บรรลุพระนิพพานครั้งที่ ๓ เป็นพระอนาคามีอริยบุคคล ดับกิเลสที่เป็นโทสมูลจิตทั้ง
๒ ดวง ได้บรรลุพระนิพพานครั้งที่ ๔ เป็นพระอรหันตอริยบุคคล ดับกิเลสได้อีก
๕ คือ โลภมูลจิต ๔ ดวง โมหมูลจิต ๑ ดวง
บุคคลนับถือพระพุทธศาสนา ๓ จำพวก
ผู้ที่มีความเคารพนับถือพระพุทธศาสนามี
๓ จำพวก คือ บุคคลที่นับถือเดียงขั้นปริยัติศาสนา ๑ บุคคลที่นับถือเยงขั้นปฏิปัตติศาสนา
๑ บุคคลที่นับถือทั้งขั้นปริยัตศาสนาทั้งขั้นปฏิบัติศาสนาทั้งขั้นปฏิเวธศาสนา
๑ จำพวกที่นับถือพุทธศาสนาขั้นปริยัตินั้น อุปมาเหมือนชาวนาลงมือปักดำทำนา
จำพวกที่นับถือพุทธศาสนาขั้นปฏิบัตินั้น อุปมาเหมือนการเก็บเกี่ยวข้าวไปรักษาไว้ในยุ้งข้าว
จำพวกที่นับถือพุทธศาสนาขั้นปฏิเวธนั้น อุปมาเหมือนการนำข้าวไปหุงต้มรับประทาน
โดยนัยนี้ จะเห็นว่าการเคารพนับถือพระพุทธศาสนานั้น ต้องนับถือให้ได้ถึง
๓ ขั้นตอน จึงจะสำเร็จสมความมุ่งหมายอย่างสมบูรณ์ตามพระประสงค์ของสมเด็จพระบรมศาสดา
โดยเฉพาะการนับถือพระพุทธศาสนาเพียงขั้นปริยัติแต่อย่างเดียวนั้น นับว่ายังไม่ได้รับผลสนองอะไรเลย
ซึ่งเปรียบกับคนลงทุนปักดำทำนาแล้ว ไม่ลงมือเก็บเกี่ยวปล่อยทิ้งให้เป็นอาหารของนกของหนูไปเสียเปล่า
ๆ ฉะนั้น
ข้อนี้สมกับถ้อยคำที่ชาวต่างประเทศสรรเสริญยกย่อมประเทศไทยว่า"เป็นเมืองพระ
มีพระสงฆ์มากหลายเต็มบ้านเต็มเมือง " แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ให้คำตำหนิติโทษว่า
"เมืองไทยนั้นถึงจะเป็นเมืองพระก็จริง แต่ขโมยชักชุมเป็นฝูงไก่
" เป็นความจริง ไม่ว่าบ้านไม่ว่าวัดวาอาราม แม้แต่ในสถานที่สำนักงานราชการก็มีนักคอรัปชั่นเต็มไปหมด
ไม่มีการยกเว้น
ข้อนี้เป็นความจริงอย่างนั้น
ที่เป็นดังนั้นเพราะเหตุไร ? เพราะคนไทยนั้นส่วนมากนับถือศาสนาแต่โดยทางทฤษฎี
ไม่ได้นับถือโดยทางน้อมนำศาสนามาเป็นหลักประพฤติปฏิบัติ คือ นับถือศาสนาแต่โดยปริยัติ
ได้แก่ศึกษาเล่าเรียนแต่ไม่ได้ฝึกหัดปฏิบัติตาม คือ ไม่ได้ลงมือเจริญสมถกัมมัฏฐาน
จนถึงขั้นสำเร็จมรรคผลและนิพพาน เป็นการชำระลางจิตสันดานให้บริสุทธิ์สะอาด
ตามที่พรรณมานี้เป็นความจริงอย่างนั้น
ข้าพเจ้านับว่าเป็นผู้มีโชคดีผู้หนึ่ง คือ ข้าพเจ้าได้กำเนิดเกิดที่ภาคพื้นแผ่นดินที่เรียกว่า
"ถิ่นอีสาน" จังหวัดขอนแก่น และเป็นถิ่นบ้านนอกคอกคาเมที่ได้นามว่า
หมู่บ้านโต้น ตำบลบ้านโต้น อำเภอเมือง ฯ จังหวัดขอนแก่น ได้บรรพชาเป็นสามเณรแต่อายุ
๑๔ ปี ครั้นอายุ ๑๖ ปี ได้เข้าไปฝึกอบรมวิชาครูที่โรงเรียนประจำจังหวัดขอนแก่น
แล้วได้ถูกบรรจุให้เป็นครูสอนนักเรียนประจำโรงเรียนประชาบาลวัดกลางเมืองเก่า
ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง ฯ จังหวัดขอนแก่น เมื่ออายุ ๑๘ ปี ได้ลาจากครูประชาบาลแล้วเดินทางด้วยเท้าจากจังหวัดขอนแก่น
มาจังหวัดนครราชสีมา ตรงมายังกรุงเทพมหานคร ใช้เวลาเพียงวันเดียวก็ถึงกรุงเทพฯ
ในที่สุดด้วยบุญบารมีบันดาลให้ได้เข้าเป็นนักเรียนบาลีไวยากรณ์ ณ โรงเรียนบาลีวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
และด้วยบารมีอึกนั้นแหละบันดาลให้ได้อยู่ภายใต้บารมีของเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต
เขมจารีมหาเถร อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ องค์ที่ ๑๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์สมัยนั้น กำลังเจริญรุ่งเรืองด้วยพระปริยัติศาสนาอย่างเต็มที่
ไม่น้อยหน้าสำนักเรียนอื่นใด จำนวนนักเรียนมีมาก ครูอาจารย์ผู้ฝึกสอนก็มาก
มากกว่าสำนักเรียนอื่นใดทั้งหมด
โรงเรียนบาลี
แผนกบาลีไวยากรณ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนเบื้องต้นแห่งการเรียนภาษาบาลี แบ่งเป็นถึง
๖ ขั้น ชั้นหนึ่ง ๆ มีพระมหาเปรียญที่เป็นครูสอนประจำชั้น ๆ ละ ๓ รูป
๔ รูป อย่างมากถึงชั้นละ ๖ รูป การเรียนภาษาบาลีขึ้นสู่ประโยคตั้งแต่ประโยค
๓ ถึงประโยค ๙ ประโยค ๓ ใช้หนังสือ ธมมปทฏฐกถา เป็นหลักสูตรแบ่งการเรียนเป็น
๔ กอง คือ กอง ๑ กอง ๒ กอง ๓ และกอง ๔ มีครูสอนประจำกองละ ๒ รูป ประโยค
๔ ใช้หนังสือ มงคลตถทีปนี เป็นหลักสูตร มีกองเดียวครูสอนประจำ ๒ รูป
ประโยค ๕ ใช้หนังสือตติยาสามนตปาสาทิกาบาลีเป็นหลักสูตร ครูสอนประจำ
๒ รูป และประโยค ๖ ใช้หนังสือทุติยสามนตปาสาทิกาบาลี เป็นหลักสูตร
มีครูสอนประจำชั้น ๒ รูป ส่วนประโยค ๗-๘-๙ ซึ่งเรียกว่าประโยคเอกและจัดเป็นชั้นสูงที่สุดนั้น
เปิดสอนเป็นบางวัน โดยทานเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต เขมจารีมหาเถร
สอนด้วยตนเอง นอกจากโรงเรียนบาลีแล้ว ยังมีโรงเรียนนักธรรมที่เปิดสอนการพระศาสนาโดยภาษาไทยเรียกว่า
โรงเรียนนักธรรมจัดเป็น ๓ ชั้น คือ นักธรรมชั้นตรี นักธรรมชั้นโท นักธรรมชั้นเอก
มีครูสอนประจำชั้น ๆ ละ ๕ รูป
ข้าพเจ้าเรียนพระศาสนา
โดยทางภาษาบาลี ตั้งแต่พ.ศ.๒๔๖๓ เป็นต้นมา พ.ศ. ๒๔๗๐ สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก
พ.ศ.๒๔๗๒ สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๘ ประโยค เมื่อข้าพเจ้าสอบไล่นักธรรมจบชั้นและสอบเปรียญถึง
ป.ธ.๘แล้ว ก็สมัครสอบบาลีประโยค ป.ธ. ๙ ต่อมา แต่ไม่สำเร็จ เพราะมัวสาระวนอยู่แต่ในภาระอย่างอื่น
เสียเป็นส่วนมาก ข้าพเจ้าจึงจบผลการศึกษาอยู่ในคอกเพียงเท่านี้
โดยที่ข้าพเจ้าได้มีชีวิตผ่านการพระศาสนามาเป็นเวลายาวนานด้วยตนเองอย่างหนึ่ง
โดยที่ข้าพเจ้าได้เสาะหาและสอบถามจากทานผู้รู้รุ่นก่อน ๆ ขึ้นไปอย่างหนึ่งและโดยที่ได้ตรวจอ่านตำรับตำราการพระศาสนาที่เป็นภาษาบาลีและที่เป็นภาษาไทยประกอบกัน
จึงทำให้ข้าพเจ้ากล้ายืนยันได้อย่างเต็มปากว่าประเทศไทยนับถือศาสนาแต่โดยทางทฤษฎี
ไม่ได้นับถือโดยทางปฏิบัติและเพราะเหตุนั้นจึงมีขโมยชุกชุมเป็นฝูงไก่
เพราะเหตุไร ? เพราะการนับถือโดยทฤษฎีนั้นไม่แน่นหนามั่นคง เหมือนทาสีเที่ยวเดียวมันหลุดลอกได้ง่ายส่วนการนับถือศาสนาโดยการลงมือปฏิบัติตามนั้น
สิ่งเดียวนั้นต้องผ่านแล้วผ่านอีก กำหนดแล้วกำหนดอีกอยู่อย่างนั้นถึง
๑๐๐ ครั้ง ๑,๐๐๐ ครั้ง บางอย่างบางกรณีอาจถึงหมื่นครั้งก็มี ดังนั้น
ผลที่ได้รู้ด้วยการปฏิบัตินั้นจึงชัดเจนแจ่มชัด เห็นบาปเป็นตนเป็นตัวจริง
ๆ จนไม่กล้าทำบาปเห็นบุญเป็นกอบเป็นกำเป็นชิ้นเป็นอัน ดังนั้น นักปฏิบัติจึงสมารถละบาปและบำเพ็ญบุญได้อย่างจริงจัง
ด้วยประการฉะนี้
โดยที่ข้าพเจ้ามีโชคดี
ที่ได้มีชีวิตชุ่มโชกอยู่กับการพระศาสนามาตั้งแต่เล็กจนโต ตั้งแต่น้อยจนใหญ่และที่สำคัญที่สุดนั้นคือ
ข้าพเจ้าได้เข้าอยู่ในหมู่ปราชญ์ศาสนา ที่เป็นสำนักศาสนาที่ยิ่งใหญ่
ไม่มีสำนักอื่นใดที่ยิ่งใหญ่ไปกว่า ไม่มีสำนักอื่นใดในเมืองไทยที่เจริญไปกว่า
หรือมีความกว้างขวางไปกว่าสิ่งทั้งหลายดังกล่าวมาเป็นเครื่องช่วยกระตุ้นเตือนข้าพเจ้า
ให้เกิดควมคิดพิจารณาขึ้นได้เองว่า "การที่ประเทศไทยเรามีพุทธศาสนเป็นศาสนาประจำชาติก็ดี
การที่บรรบุรุษบุรพาจารย์ไทยที่แล้ว ๆ มา ได้อุตส่าห์ลงทุนสร้างและรักษาพระพุทธศาสนาไว้ให้ตกทอดมา
เป็นมรดกแก่เราจนถึงปัจจุบันก็ดีนับว่าเป็นดชคดีของเราคนไทยอย่างประเสริฐที่สุดแล้ว
การที่ประเทศไทยเรามีพระพุทธวจนะคือพระไตรปิฎกอย่างครบถ้วนบริบูรณ์
พร้อมทั้งคัมภีร์อรรถกถาและคัมภีร์ฎีกา ซึ่งนับว่าเป็นกุญแจสำหรับไขพระไตรปิฎกอย่างครับถ้วนบริบูรณ์
ไม่ขาดตกบกพร่องสูญหายไปไหนนั้น นับเป็นพร้อมตมรดกที่ล้ำค่า ยากที่จะขุดค้นหรือเสาะแสวงหาได้
ณ ที่ใด ๆ ในโลกนี้หรือในโลกอื่น จึงเป็นสิ่งที่คนไทยเราจะพึงพากันภาคภูมิใจอย่างยวดยิ่ง
ยิ่งกว่าที่จะพึงได้สิ่งประเสริฐชนิดใดในโลกจักรวาฬนี้
เมื่อเราทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน
เป็นที่ประจักษ์ถูกต้องถ่องแท้แล้วดังนี้ สิ่งที่เป็นประการสำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งนั้น
คือ ให้พึ่งพากันระวังรักษาอมตมรดกชิ้นนี้ไว้ให้จงดี อย่าปล่อยปละละเลยให้สูญหายไปเสียง่าย
ๆ ถ้าเป็นดังนั้นก็จะเป็นที่เสียหายและน่าเสียใจอย่างที่สุด ทำอย่างไรเล่า
? จึงจะระวังรักษาอมตมรดกชิ้นนี้ไว้ได้ ไม่ปล่อยให้สาบสูญไปเสีย
สิ่งนั้นก็คือ
๑.ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนพระพุทธวจนะ
คือพระไตรปิฎก ให้มีความรู้ความเข้าใจในอรรถธรรมนั้น ๆ อย่างถูกต้องและเชี่ยวชาญชำนาญการจริง
ๆ คือสามารถช่วยปรับปรุงตนให้เป็นผู้มีทรรศนะเป็น กัมมัสสกตาสัมมทิฏฐิ
คือมีความเห็นถูกต้องว่า สัตว์เป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตน ถ้าได้ทำดีด้วยกาย
วาจา และใจก็จะเป็นผลดีแก่ตนเอง ถ้าได้กระทำความชั่วด้วยกาย วาจา และใจก็จะเป็นผลร้ายแก่ตนเอง
๒.ตั้งใจลงมือปฏิบัติ
คือเจริญสมถกัมมัฏฐานจนได้สำเร็จฌานสมาบัติ ได้สำเร็จอภิญญาทั้ง ๖
ประการ และเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานด้วยความอุตสาหะพยายามจนได้วิปัสสนาปัญญา
สำเร็จอริยมรรคอริยผลและนิพพานเป็นที่สุด
เมื่อพุทธบริษัททั้ง
๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกและอุบาสิกา พากันประพฤติปฏิบัติดังนี้
จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผุ้รักษาอมตมรดกอันล้ำค่าไว้เป็นอย่างดี ไม่ปล่อยให้อันตรธานสาบสูญไปเสียจากโลก
การศึกษาเล่าเรียนพระพุทธวจนะคือพระไตรปิฎกนั้น ชื่อว่าได้ปฏิบัติหน้าที่อันเป็นคันถธุระ
การมุ่งหน้าปฏิบัติคือเจริญสมถกัมมัฏฐานและเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน
ชื่อว่าไดปฏิบัติหน้าที่อันเป็นวิปัสสนาธุระ ด้วยประการฉะนี้
โดยที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
เป็นวัดที่มีความสำคัญในทางราชการตลอดมา เคยเป็นที่ประทับอยู่ขององค์สมเด็จพระสังฆราช
ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ มาจนถึงรัชกาลที่ ๓ มีสมเด็จพระสังฆราชเสด็จมาประทับอยู่ในฐานะ
เป็นเจ้าอาวาสถึง ๔ พระองค์ ถึงแม้ว่าสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น
ๆ เมื่อยังไม่ได้ทรงดำรงตำแห่งพระสังฆราชและดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ
ฯ ทุกครั้งไป และได้ถือปฏิบัติเช่นนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงสมัยรัชกาลที่
๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีสมเด็จพระสังฆราชเสด็จมาครองตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ
ฯ ถึง ๔ พระองค์ดังกล่าวแล้ว
ในรัชกาลที่
๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทางราชการฝ่ายอาณาจักรพร้อมด้วยฝ่ายพุทธจักรได้มีสมานฉันท์พร้อมกันกระทำสังคายนาพระไตรปิฏกอันเป็นสมบัติชั้นสำคัญทางพระพุทธศาสนา
ซึ่งนับเป็นการสังคายนาครั้งที่ ๙ ก็ได้ตกลงใช้วัดมหาธาตุ ฯ เป็นที่ประชุมกระทำสังคายนา
ซึ่งเริ่มแต่ พ.ศ.๒๓๓๑ ถึง พ.ศ.๒๓๓๒ จึงสำเร็จการประชุมกระทำสังคายนา
ครั้งนั้นปรากฏว่าใช้อาคารสถานที่ ๔ แห่เป็นที่ประชุม คือโรงพระอุโบสถ
๑ โรงพระวิหาร ๑ พระมณฑปพระบรมธาตุ ๑ และศาลาการเปรียญ ๑ ดังนั้น วัดมหาธาตุ
ฯ นอกจากเป็นที่ประทับอยู่ขององค์สมเด็จพระสังฆราช ผู้ทรงเป็นประมุขของคณะสงฆ์ไทยแล้ว
ยังเป็นสถานที่ประชุมกระทำการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๙ อันเป็นหลักชัยของพระพุทธศาสนา
ด้วยประการฉะนี้
ต่อมาถึงสมัยสมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า
ทรงเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้น
โดยที่พระมหากษัตริย์พระองค์นี้ ทรงมีพระปรีชาสามารถทั้งในทางคดีโลกและในทางศีลธรรม
ในทางคดีธรรมนั้น ในตำแหน่งองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกพระองค์ทรงใช้พระปรียชาญาณอันเฉียบแหลม
ทรงมองเห็นการณ์ไกล จึงได้ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเหล้า ฯ ให้สถาปนาการศึกษาของคณะสงฆ์ขึ้นสู่ขั้นมหาวิทยาลัย
๒ แห่งคือ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร สำหรับคณะสงฆ์ผ่ายธรรมยุติกนิกายศึกษาเล่าเรียนเรียกว่า
มหามกุฏราชวิทยาลัย โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นผู้ทรงรับสนอง ๑ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
สำหรับคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายศึกษาเล่าเรียน เรียกว่า มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
โดยมีเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต อุทยมหาเถร อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์องค์ที่
๑๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นผู้รับสนอง ๑ มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่งนี้
ยังใช้เป็นที่ศึกษาเล่าเรียนของคณะสงฆ์สืบมากระทั่งปัจจุบันทุกวันนี้
และเป็นนิมิตเครื่องหมายบอกให้ผู้มีสายตายาวได้เห็นว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง
๒ แห่งนี้จักเป็นหลักฐานสำคัญในการปลูกฝังวิทยาการพระพุทธศาสนา แก่บรรดากุลบุตรกุลธิดาสืบไปในอนาคต
สำหรับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต อุทยามหาเถร รับปฏิบัติสนองพระบรมราชโองการต่อมาจนหมดสิ้นสมัยแล้ว
เจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต เขมจารีมหาเถร อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุฯ องค์ที่
๑๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ได้รับพระราชภาระสนองสืบมาจนหมดสิ้นสมัยของท่าน
ครั้นถึง พ.ศ.๒๔๘๖ พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรม ฐานทตตมหาเถร
อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ ฯ องค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ได้รับสนองพระราชภาระนี้สืบต่อมา
เป็นองค์ที่ ๓ ที่ได้รับสนองพระบรมราชโองการสืบต่อมา
ครั้นถึง
พ.ศ.๒๔๙๐ คณะพระมหาเถรฝ่ายมหานิกายทั้งมวล
ซึ่งมีพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรม ฐานทตตมหาเถร เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ
ฯ เป็นประธาน ได้นัดประชุมกันที่ตำหนักสมเด็จวัดมหาธาตุฯ เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาพระพุทธศาสนาให้ทันกาลสมัย
โดยเฉพาะให้เข้ากับการศึกษาทางฝ่ายอาณาจักรได้ หมายความว่าให้พึ่งพิงอิงอาศัยกันได้
คือสร้างพระภิกษุให้มีความรู้ความสามารถที่จะให้การศึกษาให้การฝึกสอนแก่ชาวโลกได้
ในที่สุดที่ประชุมก็ลงมติให้ฉันทานุมัติ ให้มาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
วัดมหาธาตุฯ ดำเนินการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักสูตร และทำการฝึกสอนตามแผนใหม่นี้ตั้งแต่
พ.ศ.๒๔๙๐ เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา ๓๓ ปี มีนักศึกษาสำเร็จชั้นปริญญาตรี
เป็นพุทธศาสนบัณฑิตมาแล้วถึง ๒๗ รุ่น และในการประชุมคราวสำคัญครั้งนี้
ข้าพเจ้าก็นับเนื่องอยู่ในกลุ่มพระเถระที่เข้าประชุมด้วย ดังนั้นมติใด
ๆ ซึ่งที่ประชุมได้รับรองแล้วนั้น จึงเป็นอันมีมติของข้าพเจ้าประกอบอยู่ด้วย
โดยที่ข้าพเจ้าได้มีโอกาสร่วมรู้ร่วมเห็นกิจการด้านพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติไทย
ในช่วงกาลอายุของข้าพเจ้าดังพรรณนามาและทั้งเป็นผู้มีโชคดีที่ได้มาอยู่ร่วมกับบรรดาบัณฑิตนักปราชญ์ในสำนักอื่น
ๆ
ทั้งภายในประเทศไทยทั้งต่างประเทศที่นับถือพุทธศาสนามาสายเดียวกันประสบการณ์ดังกล่าวมานี้เป้ฯมูลชเหตุให้ข้าพเจ้าได้ความรู้รอบตัวและให้มองเห็นว่าพระพุทธศาสนาที่เราเคารพนับถืออยู่ทุกวันนี้
มีส่วนใดบ้างที่ยังบกพร่อง มีส่วนใดบ้างที่เต็มบริบูรณ์ดีแล้ว
สมัยที่ข้าพเจ้ายังเป้นักศึกษาและเป็นครูสอบอยู่
ณ สำนักเรียนวัดมหาธาตุฯ ข้าพเจ้าได้เกิดทรรศนะขึ้นว่า สำนักเรียนพระพุทธศาสนาวัดมหาธาตุฯ
เป็นสำนักเรียนขนาดใหญ่มีจำนวนนักเรียนมากที่สุด มีนักเรียนนักศึกษาครบทุกชั้นเรียนนอกจากเจริญอยู่ในวัดมหาธาตุฯ
แล้ว ยังได้เผยแผ่การศึกษาเล่าเรียนให้แพร่หลายไป ตามหัวเมืองตามชนบททั่วไปเกือบทั่วประเทศ
จึงนับว่าการพระพุทธศาสนาขั้นปริยัติศาสนา ในวัดมหาธาตุฯ หรือในประเทศไทยเรานั้น
มีความเจริญรุ่งเรืองพอสมควรอยู่ แต่ขั้นปฏิบัติศาสนานั้นยังไม่มี
ทางสำนักวัดมหาธาตุ ฯ หรือทางการคณะสงฆ์ยังไม่มีการยกย่องส่งเสริมให้มีขึ้นอย่างเป็นหลักเป็นฐาน
ข้าพเจ้าจึงดำริไว้ว่าถ้ามีโอกาสเมื่อใดข้าพเจ้าจักยกย่องและสงเสริมปฏิบัติศาสนาให้เป็นหลักฐานมั่นคงแล้ว
ก็จะได้ชื่อว่าวัดมหาธาตุฯ หรือประเทศไทยได้ยกย่องและทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์
ส่วนปฏิเวธศาสนานั้น เมื่อได้ยกย่องและส่งเสริมปฏิบัติศาสนาแล้ว ก็ชื่อว่าได้ยกย่องและส่งเสริมไปในตัว
เพราะเป็นผลแห่งการปฏิบัตินั้น
เมื่อนั้นข้าพเจ้ามีทรรศนะเกิดขึ้นดังกล่าวแล้ว
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ เจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต เขมจารีมหาเถร ได้จัดส่งข้าพเจ้าไปบำเพ็ญกิจพระพุทธศาสนาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาประจำอยู่ที่วัดสุรรณดาราราม
ได้ทำกิจพระพุทธศาสนาอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น เป็นเวลานานถึง
๑๖ ปี เป็นพระราชคณะชั้นสามัญแล้วเลื่อนเป็นชั้นราช , ชั้นเทพ , ชั้นธรรม
ที่พระธรรมไตรโลกาจารย์ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ครั้นต่อมาถึง
พ.ศ.๒๔๙๑ ข้าพเจ้าได้ย้ายกลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ สืบแทนท่านเจ้าคุณอาจารย์พระพิมลธรรม
ฐานทตตมหาเถร เป็นอันดับที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อข้าพเจ้ากลับมาอยู่วัดมหาธาตุฯ
อีกครั้งนี้ ทรรศนะที่เคยเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าครั้งยังเป็นนักศึกษษเป็นอาจารย์สอนนักเรีนอยูดังกล่าวมาแล้วนั้น
ก็ได้เกิดกระตุ้นเตือนข้าพเจ้าอย่างกล้าแข็งรุนแรงขึ้นโดยลำดับ จนเป็นสาเหตุบันดาลให้ข้าพเจ้าเกิดความขวนขวายพยายามในอันจะฟื้นฟูปฏิบัติศาสนาขึ้นในประเทศไทยให้จงได้
ทรรศนะอันรุนแรงที่เกิดรบเร้าใจข้าพเจ้าครั้งนี้ จนไม่อาจที่จะแช่เย็นอยู่อีกต่อไปแล้ว
ก็การที่จะฟื้นฟูปฏิบัติศาสนาขึ้นนั้น
เบื้องต้นเราควรจะมีอะไรบ้างเพราะปฏิบัติศาสนานั้น
เราต้องใช้คนที่มีจิตใจเป็นชาวพุทธเป็นประการสำคัญ คนชาวพุทธที่จะเป็นกำลังฟื้นฟูปฏิบัติศาสนานั้น
ควรมีบุคคลเป็น ๓ ประเภท คือ ประเภทที่หนึ่ง คือ ท่านมีความรู้เชี่ยวชาญในปริยัติศาสนา
และมีความชำนิชำนาญในการปฏิบัติสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน สามารถที่จะทำหน้าที่เป็นครูอาจารย์ฝึกสอนได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
คือพระไตรปิฎกเป็นตัวอย่าง ประเภทที่สองคือ กุลบุตรกุลธิดาผู้มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
พร้อมที่จะลงมือปฏิบัติได้ในกาลทุกเมื่อ ประเภทที่สามคือหมูพุทธบริษัทผู้มีกำลังพอที่จะช่วยอุปภัมภ์บำรุง
บุคคลประเภทที่หนึ่งและที่สองนั้นให้มีพลังแรงพอที่จะช่วยพยุงปฏิบัติศาสนานั้น
ให้ดำเนินไปด้วยดีตามเป้าหมายทุกประการ เมื่อมีบุคคลชาวพุทธ ๓ ประเภทนี้แล้ว
จึงจักฟื้นฟูปฏิบัติศาสนาให้เกิดมีขึ้น และดำรงทรงสภาพอยู่ตลอดกาลนาน
ในบุคคล
๓ ประเภทนี้ บุคคลประเภทที่สองกับที่สามนั้น มีพอหาได้ในกลุ่มชาววัดมหาธาตุฯ
ทั้งบรรชิตและคฤหัสถ์ ที่ไม่มีอยู่ก็คือบุคคลประเภทที่ ๑ เท่านั้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้าจึงค้นคิดพิจารณาเสาะหาบุคคลประเภทนี้อย่างขมักเขม้นต่อไป
และตั้งความคาดหมายไว้อย่างสูงยิ่งว่า ท่านผุ้ควรจะมาเป็นครูอาจารย์ฝึกสอนสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน
ต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ อาจที่จะยกกองทัพธรรมมาต่อสู้
ณ ใจกลางทุ่งพระเมรุได้เท่านั้น จึงจะตรงตามความประสงค์ บุคคลจำพวกที่หลบหลีกไปตั้งกองทัพธรรม
ต่อสู้อยู่ในป่าในเขานั้น ไม่สมควรที่จะเชิญมาฝึกสอนเพราะเหตุที่ประเทศเราไม่ได้นำพาการปฏิบัติศาสนามานานแล้ว
การที่จะเลือกสรรค์หาบุคคลประเภทที่หนึ่ง ซึ่งมีความรู้ความสามารถมาตั้งกองทัพธรรมต่อสู้ศัตรู
ณ ท่ามกลางทุ่งพระเมรุนั้นย่อมเป็นสิ่งที่หาได้ยากอย่างยิ่งเป็นธรรมดา
ถึงอย่างนั้น
ข้าพเจ้าก็พยายามขวนขวายหาเรื่อย ๆ ไป ในทีสุดก็ได้พบท่านอาจารย์สุข
ปวโร วัดระฆังโฆสิตาราม กทม. ท่านพระอาจารย์องค์นี้ภูมลำเนาเดิมดูเหมือนจะเป็นชาวจังหวัดอุทัยธานี
ปัจจุบันมีหมู่ญาติและลูกหลานอยู่ในเขตอำเภอขลุง จังหวัดกำแพงเพชร
พระอาจารย์สุข ปวโร นี้นั้น มิได้เป็นมหาเปรียญแต่ท่านในใจในการปฏิบัติธรรม
และได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาพระอภิธรรมปิฎกจากอาจารย์ชาวพม่า โดยเฉพาะคืออาจารย์สาย
สายเกษม ซึ่งโดยมากท่านมักจะไปสอนวิชาพระอภิธรรมปิฎกอยู่ ณ วัดระฆังโฆสิตารามเสมอ
ทั้งนี้ก็เพราะ ณ ที่วัดระฆังโฆสิตารามนั้น มีพระเถระที่เป็นสื่อเป็นนกต่ออยู่หลายรูป
เช่นท่านพระครูวินัยธร มีเปรียญ ๓ ประโยค ฐานานุกรมของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆสาจารย์
วัดระฆังโฆสิตาราม พระอาจารย์สุข ปวโร เป็นต้น เป็นผู้ที่มีความสนใจในการปฏิบัติธรรม
สนใจในวิชาพระอภิธรรมปิฎกและมีการสนทนาธรรมสากัจฉากันอยู่เสมอ ท่านที่กล่าวมานานแล้วนี้
ถึงท่านจะไม่ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมตามหลักสูตรของสนามหลวงแต่ก็มีความรู้ในพระปริยัติธรรมอย่างสุขุมละเอียด
เหมือนว่าท่านพระอาจารย์เหล่านั้นจะมีความรู้ในพระศาสนาอย่งสุขุมละเอียดและถูกต้องดีกว่านักศึกษาตามหลักสูตรของสนามหลวงในเวลานั้นเสียอีก
ข้าพเจ้าเองในยามที่ว่าจากกการธุระที่จำทำแล้ว ก็มักจะแอบข้ามไปฟังการสนทนาธรรมสากัจฉา
ณ วัดระฆังโฆสิตารามเสมอ และได้ความรู้พิเศษแปลก ๆ ใหม่ ๆ อื่นจากที่ได้จากการศึกษาเล่าเรียนตามหลักสูตรสนามหลวงหลายประการ
ข้อนี้เป็นปัจจัยประการหนึ่ง
ที่ข้าพเจ้ารู้จักคุ้นเคยกับท่านพระอาจารย์สุข ปวโร นอกจากรู้มักคุ้นตามปกติแล้ว
ข้าพเจ้ายังได้รู้จักคุณลักษณะคุณภาพของท่านพระอาจารย์สุข ตามที่ปรากฏมีอยู่ในองค์ท่านในเวลานั้นเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าได้ตัดสินว่า
เมื่อยังไม่พบอาจารย์ผู้มีความรู้ความสามารถดังตั้งปณิธานไว้ ก็สมควรจะมอบถวายตำแหน่งอาจารย์แด่ท่านพระอาจารย์สุข
ปวโร ไปพลางก่อน จนกว่าจะมีโอกาสมีโชคดีได้พบอาจารย์ผุ้ทรงคุณลักษณะดังที่ตั้งปณิธานไว้
ในที่สุดข้าพเจ้าก็ได้นัดปรึกษาหารือกันกับพระอาจารย์สุข ปวโร อย่างใกล้ชิดและอย่างจริงจัง
ตกลงกันว่า เราจะเริ่มก่อตั้งสำนักปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานขึ้น ภายในบริเวณพระอุโบสถวัดมหาธาตุฯ
เป็นการประเดิมเริ่มแรก
ข้าพเจ้าในฐานะเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองในเวลานั้นคือปีพ.ศ.๒๔๙๔
รับทำหน้าที่เป็นผู้อุปถัมภ์ และจัดหาพุทธบริษัทผู้มีศรัทธาสมัครใจที่จะเข้าปฏิบัติ
ส่วนท่านพระอาจารย์สุข ปวโร รับทำหน้าที่เป็นพระอาจารย์ผู้ให้การฝึกสอน
นับว่าได้บุคคล ๓ ประเภทครบตามวัตถุประสงค์แล้ว ข้าพเจ้าจึงเริ่มเปิดสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานขึ้นเป็นการทดลอง
ภายในโรงพระอุโบสถวัดมหาธาตุฯ นักปฏิบัติรุ่นแรกเริ่ม ที่เป็นบรรพชิตก็คือ
พระมหาโชดก ญาณสิทธิ ป.ธ.๙ วัดมหาธาตุฯ คือพระเทพสิทธิมุนี พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระปัจจุบัน
และพระครูสังวรสมาธิวัตร เจ้าอาวาสวัดเพลงวิปัสสนา และเลขานุการกองการวิปัสสนาธุระเคลื่อนที่ปัจจุบัน
เป็นต้น
ครั้นริเริ่มก่อตั้งการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานขึ้นแล้ว
ก็มีมวลพุทธบริษัททั้งบรรชิตและคฤหัสถ์ยินดีนิยมมาเข้าปฏิบัติเสมอมิได้ขาด
แสดงว่ายังมีหมู่พุทธบริษัทที่เจริญศรัทธาปรารถนาเข้าปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่เป็นจำนวนมากทีเดียว
ทำให้ข้าพเจ้าเกิดปีติโสมนัสเป็นอันมาก เพราะแสดงให้เห็นว่าความดำริและทรรศนะของข้าพเจ้าที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว
จะสำเร็จขึ้นสมความมุ่งหมายแล้ว
พอดีในระยะกาลนั้น
ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปประเทศพม่า และได้ไปดูพระพุทธศาสนาภาคปฏิบัติศาสนาของเขา
โดยเฉพาะที่วัดศาสนายิสสา ในกรุงย่างกุ้งอันเป็นพระนครหลวงของประเทศพม่า
ได้เห็นการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ชนิดเดินตามแบบมหาสติปัฏฐานสูตร
ที่ท่านพระมหาสีสยาดอ หรือท่านโสภณมหาเถร เป็นประธานและเป็นพระอาจารย์ใหญ่
นำประกาศสั่งสอนอยู่ ณ ใจกลางพระนครย่างกุ้ง มีบรรดาพุทธบริษัททั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์เคารพนับถือ
และนิยมพากันเข้าไปรับการฝึกหัดปฏิบัติตามเป็นจำนวนมาก แม้คณะรัฐบาลแห่งประเทศพม่าสมัยนั้น
ซึ่งมีฯพณฯ อูนุ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีความเคารพนับถือช่วยถวายการอุปถัมภ์บำรุงเป็นอย่างดีทกให้การปฏิบัติวปัสสนากัมมฏฐานแบบนี้ได้แพร่ขยายกระจายไปเกือบทั่วประเทศพม่า
ข้าพเจ้ามีโชคดีมีบุญบารมีอยู่
จึงมีโอกาสให้ได้เข้าไปส้องเสพคบหากับบรรดาท่านอาจารย์และนักปฏิบัติอย่างใกล้ชิดแล้ว
ก็มีความเลื่อมใสพอใจเป็นอย่างมาก คิดล่วงหน้าไปว่า ความดำริและทรรศนะของข้าพเจ้าคงจะสำเร็จครั้งนี้
เพราะว่าท่านพระมหาสีสยาดอผู้เป็นพระอาจารย์ใหญ่นั้น ได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติแตกฉานในพระไตรปิฎกอย่างปราดเปรื่อง
ในชั้นปฏิบัติศาสนาก็ได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมาอย่างละเอียดสุขุม
ทำให้พุทธบริษัทที่เป็นคฤหัสถ์มีความเชื่อความเลื่อมใสเป็นอันมาก สมดังที่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของพม่าท่านหนึ่งได้ให้คำตอบแก่ข้าพเจ้าว่า
ประการแรกข้าพเจ้าเจริญพรเรียนถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพม่ท่านนั้น
ซึ่งมีนามว่า ฯพณฯ อูวิน ว่าเพราะเหตุไร? ท่านทั้งหลายจึงได้เคารพนับถือท่านพระมหาสีสยาดอเป็นอย่างมาก
ท่านรัฐมนตรีศึกษาให้คำตอบว่า พวกกระผมได้มีโอกาสไปศึกษาเล่าเรียนวิชาการต่าง
ๆ เกือบทั่วโลก ท่านพระมหาสีสยาดอไม่เคยได้ไปศึกษาเล่าเรียน ณ ที่ไหนในต่างประเทศ
แต่เมื่อพวกเราเกิดพปัญหาแล้วนำไปกราบเรียนถามท่านพระมหาสีสยาดอท่านก็สามารถตอบได้หมดและตอบได้เป็นอย่างดี
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พวกเรามีความเลื่อมใสในท่านเป็นอย่างมาก ด้วยประการฉะนี้
เมื่อข้าพเจ้าได้มีโอกาสส้องเสพกับสำนักปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานแห่งนั้นแล้ว
ก็มีความภาคภูมิใจเป็นอันมากและได้ตั้งปณิธานไว้ว่า ข้าพเจ้าจักส่งนักศึกษาของไทยมารับการถ่ายทอดเอาปฏิบัติศาสนา
จากสำนักปฏิบัติแห่งนี้ ไปประกาศเผยแผ่ในประเทศไทยให้จงได้
ต่อมาถึง
พ.ศ.๒๔๙๕ สำนักปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานที่ข้าพเจ้าเปิดปฏิบัติเป็นการทดลอง
ณ บริเวณพระอุโบสถวัดมหาธาตุฯ นั้น ก็นับว่ามีพุทธบริษัททั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์
สมัครมาเข้าปฏิบัติมากขึ้นโดยลำดับ แต่พระอาจารย์ยังตัดสินชี้ขาดลงไม่ได้ว่า
การปฏิบัตินี้อำนวยผลเป็นประการใดแค่ไหน ในทำนองเดียวกัน เมื่อหลายปีมาแล้วข้าพเจ้าเป็นเปรียญอยู่
ได้นำพระคณะชาวอีสานที่มาศึกษาอยู่ที่กรุงเทพฯ ไปถวายสักการะพระมหาเถระองค์หนึ่งเป็นพระธรรมยุติ
พอดีขณะนั้นท่านกำบังสนทนาธรรมกับสมเด็จพระราชาคณะองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมยุติเหมือนกัน
ท่านพระมหาเถระองค์นั้นเรียนสมเด็จพระราชาคณะองค์นั้นว่า พระโสดาบันนี้มองเห็นอยู่ใกล้
ๆ นี่เอง แต่ไฉนไม่ถึงสักที ข้าพเจ้าจึงรื้อฟื้นความดำริและทรรศนะเดิมขึ้นมา
ในอันที่จะจัดส่งนักศึกษาไทยไปถ่ายทอดเอาแบบปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน
ณ วัดศาสนายิสสา ประเทศพม่า ในที่สุดก็ตกลงใจจะส่งพระมหาโชดก ญาณสิทธิ
เปรียญธรรม ๙ ประโยค ไปรับการถ่ายทอดก็พระมหาโชดกนั้นได้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่ภายในพระมณฑปพระบรมธาตุ
ภายใต้การควบคุมของท่านพระอาจารย์สุข ปวโร เป็นเวลานานถึง ๗ เดือนเศษแล้ว
เมื่อทางสำนักจะจัดส่งเธอไปรับการฝึกฝนเพิ่มเติม ณ ประเทศพม่า เธอก็ยินดีสมัครที่จะไปตามประสงค์ของสำนัก
เมื่อตกลงกันเช่นนี้แล้วทางสำนักวัดมหาธาตุฯ ก็ตระเตรียมการจัดส่งพระมหาโชดก
ญาณสิทธิ ป.ธ.๙ ไปฝึกการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ณ สำนักปฏิบัติศาสนายิสสา
กรุ่งย่างกุ้งประเทศพม่า ในปี พ.ศ.๒๔๙๕ นั้น
เมื่อพระมหาโชดก
ญาณสิทฺธิ ป.ธ. ๙ ไปรับการฝึกฝนอบรมวิธีปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ตามแนวนัยแห่งมหาสติปัฏฐานสูตร
ณ สำนักวัดศาสนายิสสา นครย่างกุ้ง ภายใต้การนำของท่านพระมหาสีสยาดอ
ครั้งนั้นภายในระหว่าพรรษานั้นเองพระมหาโชดก ญาณสิทฺธิ ได้ส่งรายงานการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานมาให้ข้าพเจ้าทราบว่า
"การปกิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ที่สำนักวัดศาสนายิสสา นครย่างกุ้งนั้น
มีความหมายเป็นขึ้นตองลำดับญาณเป็นขั้น ๆ มีญาณถึง ๑๖ ขั้นเรียกว่าโสฬฒสญาณ
ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานสำเร็จโสฬสญาณครั้งที่ ๑ เป็นพระโสดาบันอริยบุคคลสำเร็จโสฬสญาณครั้งที่
๒ เป็นพระสกทาคามีอริยบุคคล สำเร็จโสฬสญาณครั้งที่ ๓ เป็นพระอนาคามีอริยบุคคล
สำเร็จโสฬสญาณครั้งที่ ๔ เป็นพระอรหันตอริยบุคคล นับเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์น่าอนุโทนาอย่างยิ่ง"
พระมหาโชดก
ญาณสิทฺธิ ไช้เวลาฝึกปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานที่สำนักวัดศาสนายิสสา
นครย่างกุ้งเป็นเวลา ๑ พรรษา เมื่อสมควรแก่กาลเวลาและก่อนแต่จะรับเธอกลับคืนสู่ประเทศไทยนั้น
ข้าพเจ้าได้ทำหนังสือเรียนไปยังรัฐบาลพม่าว่า ในการส่งพระมหาดชฎก ญาณสิทฺธิ
ป.ธ.๙ มารับถ่ายทอดปฏิบัติศาสนาครั้งนี้ เกรงว่าพระมหาโชดกยังไม่ทันจะมีความชำนิชำนาญในการฝึกสอนโดยลำพัง
จึงใคร่ขอความอนุเคราะห์ ขอให้รัฐบาลพม่าส่งพระวิปัสสนาจารย์ผู้ชำนิชำนาญมีความเชี่ยวชาญดีแล้ว
ไปช่วยทำการฝึกสอนที่ประเทศไทยสัก ๒ ท่าน ทางประเทศพม่าเมื่อได้รับขอร้องของข้าพเจ้าแล้ว
ก็มีความยินดีช่วยอนุเคราะห์ด้วยดี คือยินดีส่งพระวิปัสสนาจารย์ผู้เชี่ยวชาญมาให้
โดยเดินทางมาพร้อมกับพระมหาโชดกรวม ๒ ท่านด้วยกัน คือท่านอาจารย์อาสภกัมมัฏฐานาจริยะ
๑ ท่านอาจารย์อินฺทวํสกัมมัฏฐานาจริยุ ๑ พระอาจารย์ทั้งสองท่านนี้จากสำนักวัดศาสนายิสสา
ภายใต้การนำของท่านมหาสีสยาดอ นับว่าเป็นบุญลาภเป็นโชคดีของประเทศไทยเป็นพิเศษ
ที่ประเทศพม่ามีความยินดีส่งพระวิปัสสนาจารย์มาให้ตามที่ขอร้องไป ข้าพเจ้าเองรู้สึกขอบบุญคุณเป็นอย่างยิ่ง
จึงขออนุโมทนาและขอบคุณอย่างสูงไว้ ณ ที่นี้
การเปิดตั้งสำนักวิปัสสนาครั้งแรก
เมื่อข้าพเจ้าได้ใช้ความอุตสาหะเลือกคัดจัดหาบุคคล
๓ ประเภทได้สมตามความปณิธานแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้เตรียมการที่จะเปิดตั้งสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานขึ้น
ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นทางการอย่างออกหน้าออกตา เพื่อเป็นการสนองพระบรมราชปณิธานของสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าพระปิยมหาราช
รัชกาลที่ ๕ ซึ่งได้ทรงตังพระราชปณิธานไว้ในพระบรมราชโองการ เรื่องประกาศตั้งมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลับมหาวิทยาลัยสงฆ์
ตอนหนึ่งว่า "เพื่อให้พระภิกษุสามเณรได้ศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูง..."
ฉะนี้คำว่า"พระไตรปิฎก"นั้น มีพระคัมภีร์เป็นหลักให้เห็นอยู่แล้ว
ส่วนคำว่า"วิชาชั้นสูง"นั้นหมายเอาโลกุตตรปัญญาซึ่งจะได้จากการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเท่านั้น
เมื่อได้ตระเตรียมกิจกรรมอันเป็นบุรพกิจทุกสิ่งสรรพพร้อมแล้วก็ได้ประชุมประกาศตั้งสำนักปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานขึ้นเป็นครั้งแรก
และเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ณ ภายในบริเวณขงเขตพระอุโบสถ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
เมื่อต้นปีพุทธศักราช ๒๔๙๖ เป็นอันว่าการทะนุบำรุงการเคารพยกย่องปฏิบัติศาสนาได้อุบัติขึ้นแล้วในประเทศไทย
ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๙๖ เป็นต้นมา ด้วยประการฉะนี้
ที่เป็นประการสำคัญซึ่งควรจะกล่าวถึงอีกประการหนึ่งนั้น
คือ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘ สมเด็จพระเจ้าย่า คือสมเด็จพระศรีนครินทรา พระบรมราชชนนีได้ทรงเจริญพระราชศรัทธาใคร่จะทรงปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นการทรงอุทิศพระองคืบูชาแด่สมเด้จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยปฏิบัติบูชา
อันเป็นการบูชาชั้นสุดยอด พระองค์จึงได้เสด็จไปทรงปฏิบัติเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน
ณ พระมณฑปพระบรมสารีริกธาตุ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษธิ์ โดยให้เจ้าคุณพระเทพสิทธิมุนี
พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ถวายการฝึกสอนและถวายการสอบอารมณ์อยู่หลายเวลา
ได้ถวายพระพรอันประกอบด้วยธรรมปฏิบัติชั้นประณีต แก่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าอย่างบถึงพระราชหฤทัย
หรือจะเรียกว่าพระภิกษุผู้อยู่ภายใต้การทรงอุปถัมภ์ค้ำชู ได้ถือโอกาสถวายพระพระกระยาหารพระราชหฤทัยแด่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า
เป็นวิธีการสนองพระเดชพระคุณโดยทางธรรมประการหนึ่ง ซึ่งเป็นการที่กระทำได้ไม่ง่ายนัก
นี้เป็นตัวอย่างในประการที่ว่า พระพุทธศาสนาอำนวยความสุขใจให้แก่บุคคลชั้นสูงก็ได้
และที่อำนวยความสุขใจให้แก่บุคคลชั้นต่ำแต่มีใจสูงก็ได้ ซึ่งมีอยู่พอหาดูหาชมได้โดยไม่ยากนัก
และสิ่งที่น่าอัศจรรย์อย่างหนึ่งนั้น คือพุทธศาสนาอำนวยความสุขทางใจให้แก่คนทุกชั้นเสมอเหมือนกัน
คือเท่ากันไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันไม่สูงไม่ต่ำกว่ากัน เป็นพระพุทธศาสนาที่ได้อำนวยความสุขทางใจ
ให้แก่คนทุกชั้นทุกเพศทุกวัยเสมอกันหมดไม่แบ่งเป็นชั้น ด้วยประการฉะนี้
การที่ข้าพเจ้ายอมเสียสละทุกอย่างไปรับเชิญพระปฏิบัติศาสนา
มามอบให้เป็นอมตสมบัติแก่ชาวพุทธไทยนั้น ถ้าไม่มีอุปสรรคมากีดกั้นทางไว้ชั่วระยะหนึ่งแล้ว
ปฏิบัติศาสนานี้ก็จะขยายแพร่กระจายไปกว้างไกลยิ่งกว่าที่ปรากฏอยู่นี้หลายเท่าตัว
สิ่งนั้นก็คือ
ขณะที่ข้าพเจ้าเชิญปฏิบัติศาสนามาเผยแผ่อยู่อย่างเป็นชิ้นเป็นอันและดำเนินไปตามเป้าหมายด้วยดีนั้น
มีพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่และทรงอำนาจไม่ชอบข้าพเจ้าเป็นส่วนตน ปรารถนาอย่างแรงในอันที่จะกำจัดข้าพเจ้าพระพิมลธรรม
ให้หย่อนลงมาเป็นพระมหาอาจ แล้วจะกำจัดพระมหาอาจให้หย่อนลงมาเป็นนายอาจให้จงได้
คนเราเมื่อมีความดำริผิด มีความคิดผิดที่เรียกว่ามิจฉาทิฏฐิแล้ว จะกระทำทางกายก็เป็นการกระทำที่ผิด
จะพูดทางวาจาก็เป็นคำพูดที่ผิด แล้วมันก็พากันผิดไปทั้งหมดความผิดนั้นเมื่อบันดาลทุกข์ให้แก่ตนแล้ว
มิหนำซ้ำบันดาลทุกข์ให้แก่ผู้อื่นอีกสถานหนึ่งด้วย
ข้าพเจ้าต้องตกทุกข์ได้ยาก
เพราะเหตุที่มิจฉาทิฏฐิของบุคคลจำพวกหนึ่งแล้ว ที่น่าเสียดายและน่าเสียใจที่สุดนั้น
คือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ผู้ใหญ่ซึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิใช้เป็นมือเป็นหูเป็นตานั้น
เป็นคนตาบอดตาถั่วมองไม่เห็นความจริงตามที่เป็นจริง เขามองข้าพเจ้าว่าการที่ข้าพเจ้านำเอาวิปัสสนากัมมัฏฐานมาสอนคนไทยนั้น
ก็เพื่อสอนคนไทยให้นั่งหลับตาเสีย เมื่อคอมมิวนิสต์ยกกระบวนเข้ามาข่มขู่
มาปล้นสดมภ์จะได้ไม่ลุกขึ้นต่อต้าน และเมื่อผู้ใหญ่ปิดหูหลับตาเชื่อตาม
ก็เลยปล่อยโอกาสให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตาถั่วจำพวกนั้น กีดกันกางกั้นการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานอันเป็นสายของข้าพเจ้า
ทำให้บรรดาพระวิปัสสนาจารย์ส่วนมากอิดหนาระอาใจ จึงยุบเลิกสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานไปเสียมารก
ที่ไม่ยุบเลิกก็บางเบาย่อหย่อนกำลังลงทำให้สำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานที่ข้าพเจ้าดำเนินการให้ตั้งขึ้นเป็นจำนวนร้อย
ๆ สำนักนั้น ลดลงเหลืออยู่เพียงจำนวนสิบ ๆ สำนัก ข้าพเจ้าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตาถั่วจับกุมไปคุมขังนานถึง
๕ ปี เมื่อศาลทหารกรุณาตัดสินยกฃฟ้องปล่อยข้าพเจ้าให้พ้นข้อหากลับคืนมาสู่วัด
จากผู้มีอำนาจอันสูงส่งมาเป็นผู้หมดอำนาจหมดดีในทางโลก จึงทำให้การปฏิบัติธรรมที่อยู่ในสายของข้าพเจ้าพลอยยุบยอมไปด้วยอย่างน่าเสียดายจริง
ๆ ผลเสียที่มีขึ้นครั้งนี้ ไม่ใช่เสียเป็นส่วนตัวของข้าพเจ้าแต่ผู้เดียว
แต่มันเป็นผลเสียแก่คณะสงฆ์ไทยและชาชนชาวไทยด้วย
ถึงแม้ว่าข้าพเจ้าจะยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูด
ก็ไม่ใช้พูดเพราะผู้โกรธผู้ใดใครผู้อื่น แต่พูดไว้เพื่อให้ชาวพุทธไทยได้ใช้สติปัญญาให้มาก
อย่าปล่อยให้คนโง่เง่าพาเข้ารกเข้าป่า มันน่าเสียดายและน่าเสียใจอยู่
เมื่อนึกถึงผลได้ผลเสียที่มันปรากฏให้เห็นมาแล้ว จึงขอฝากทรรศนะนี้ไว้เพื่ออนุชนจะได้นำไปคิดพิจารณา
ให้เห็นตามสภาวะธรรมโดยถ่องแท้ต่อไป
นับแต่กาลที่ได้ประกาศตั้งสำนักกัมมัฏฐานขึ้น
ณ ขงเขตบริเวณ พระอุโบสถ วัดมหาธาตุยุวรชรังสฤษฏิ์ขึ้นแล้ว เจ้าคณะพระสังฆาธิการและอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายเกือบทั่วประเทศ
ได้ทราบข่าวอันเป้นมหากุศลอันเป็นมิ่งมหามงคลนี้แล้ว ต่างก็พากันมาสมัครปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นจำนวนมาก
เพื่ออนุเคราะห์มวลพุทธบริษัททั้งหลายให้ได้รับสัปปายะในการปฏิบัติ
ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจสร้างฝากั้นพระวิหารหลวงซึ่งอยู่ว่าง ๆ นั้น เป็น
ห้อง ๆ ห้องหนึ่งก็บรรจุนักปฏิบัติได้ผู้หนึ่ง นอกจากกั้นห้องในพระวิหารหลวงแล้ว
พระระเบียงรอบพระอุโบสถทั้ง ๔ ด้าน ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปั้นปางมารวิชัยขนาดหน้าตักกว้างประมาณ
๓ ศอก จำนวน ๑๑๒ องค์คือด้านเหนือและด้านใต้ด้านและ ๓๐ องค์ รวมเป็น
๖๐ องค์ ตรงมุมพระระเบียง ๔ มุม มุมละ ๑ องค์ รวมเป็น ๔ องค์ รวมทั้งสิ้นจึงเป็น
๑๑๒ องค์ ณ ที่พระระเบียงรอบพระอุโบสถทั้ง ๔ ด้าน ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนั้นปางมารวิชัยดังกล่าว
ข้าพเจ้าสั่งให้กั้นเป็นห้อง ๆ เป็นการชั้วคราว เพื่อถวายและให้ความสะดวกแก่โยคีนักปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นการชั่วคราว
ชาวพุทธบริษัทบางจำพวก
ที่มิได้ใช้ความคิดพิจารณาให้เห็นคุณค่าโดยถูกต้องถ่องแท้แห่งปฏิบัติศาสนาก็มักพากันนำไปครหานินทาต่าง
ๆ นานาตามทรรศนะของเขา เห็นว่าเป็นการกรุงรังบ้าง เห็นว่าเป็นสิ่งปิดบังพระพุทธรูปที่ชาวพุทธพากันมากทราบไหว้บูชาบ้าง
คนจำพวกนี้เป็นจำพวกที่ถือ ศาสนาแต่ปาก แต่ใจมิได้เคารพนับถือเป็นพื้นฐาน
เมื่อมีนักปฏิบัติสำเร็จการปฏิบัติมากขึ้น ทางสำนักก็จัดการส่งไปเป็นครูสอนประจำจังหวัดบ้าง
ประจำอำเภอบ้าง ประตำบลบ้าง โดยมากเมื่อเวลาประกอบพิธีเปิดตั้งสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานขึ้น
ณ ที่ใด ข้าพเจ้ามัก ถือโอกาสไปเป็นประธานประกอบพิธีเปิด ณ ที่นั้นเป็นส่วนมาก
ต่อมาภายในระยะกาลยังไม่ถึง
๑๐ ปี ก็ได้ขยายสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งในกรุงเทพมหานครและหัวเมืองชั้นจังหวัดชั้นอำเภอ
มีสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานมากกว่า ๔๐๐ สำนักชาวพุทธบริษัทก็พากันสนใจรู้จักปฏิบัติศาสนาดีขึ้นกว่าที่แล้ว
ๆ มากเป็นอันมาก ในปัจจุบันมีสำนักปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานที่เป็นหลักฐานมั่งคงอยู่ในภาคต่าง
ๆ ทุกภาคในประเทศไทย
กรรมวิธีแห่งการปฏิบัติ
วิปัสสนากัมมัฏฐาน
โดยที่สำนักวิปัสสนากัมมัฏฐาน
ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ตั้งแต่แรกเปิดตั้งขึ้นก็มีการฝึกสอนติดต่อกันมาอย่างไม่ขาดสาย
โดยมีเจ้าคุณพระเทพสิทธิมุนีเป็นประธานพระวิปสสนาจารย์ ทำการอบรมสั่งสอนเป็นประจำ
มีนักปฏิบัติทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์มาสมัครปฏิบัติเสมอมิได้ขาดทั้งในพรรษาและนอกพรรษา
ส่วนสถานในขงเขตพระอุโบสถออก ตามบัญชาของท่านผู้ใหญ่ในสมัยนั้นแล้ว
เจ้าคุณพระเทพสิทธิมุนีก็ได้เจริญอุตสาหะต่อเติมเสริมสร้างหมู่กุฏีสงฆ์ในบริเวณคณะ
๕ แห่งวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ ขึ้นเป็น ๒ ชั้น ๓ ชั้น แล้วใช้เป็นสถานที่อยู่ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อมาจนปัจจุบัน
การที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์
มีอุบาสอุบาสิกาเข้าไปอาศัยฟังธรรมจำศีลและเจริญภาวนามากเป็นจำนวนร้อยจำนวนพัน
ในวันธรรมสวนะประจำวันพระและวันอาทิตย์เหมือนที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน
ก็เพราะมีอบราฝึกสอนส่วนปฏิบัติศาสนาคือ วิปัสสนากัมมัฏฐานนี้เองเป็นเหตุปัจจัยที่มีความดึงดูดอย่างสำคัญเพราะพุธศาสนิกชนเมื่อได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน
น้อมนำจิตใจให้เข้าถึงพระรัตนตรัยได้อย่างถูกต้องและจริงแท้แน่นอนแล้ว
ก็มีจิตใจมั่นคงและแนบแน่นอยู่ในพระรัตนตรัยแต่อย่างเดียวเท่านั้น
ไม่กระสับกระส่ายยักย้ายไปนับถือสิ่งอื่นยิ่งกว่าพระรัตนตรัยอีกแล้ว
เพื่อที่จะได้ช่วยพุทธบริษัทให้ได้ลงมือบำเพ็ญปฏิบัติศาสนา
คือวิปัสสนากัมมัฏฐานอย่างถูกต้อง ข้าพเจ้าขอโอกาสนำกรรมวิธีแห่งการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน
ซึ่งเจ้าคุณพระเทพสิทธิมุนีพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระได้รจนาขึ้นไว้อย่างสังเขป
เพื่อเป็นเครื่องส่องทางในการประพฤติปฏิบัติเบื้องต้นให้ตรงตามเป้าหมายแก่คณะพุทธบริษัท
ผู้มาปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานทั้งหลาย มาตีพิมพ์ประกอบไว้ในลำดับต่อไป
อนึ่ง
เนื่องจากในสมัยนี้ มีผู้เจริญศรัทธาตั่งชมรมสอนการปฏิบัติธรรมขึ้นมากแห่งด้วยกัน
สถานที่ปฏิบัติธรรมแต่ละแห่งนั้น ก็มักจะตั้งชื่อเหมือน ๆ กันว่า"สำนักวิปัสสนากัมมัฏฐาน"
จนพุทธศาสนิกชนผู้ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎกมาเป็นอย่างดี ไม่สามารถจะตัดสินใจเชื่อถือได้ว่าสำนักใดเป็นสำนักที่ถูกต้อง
สำนักใดเป็นสำนักเทียม ยิ่งกว่านั้น สำนักที่อ้างตนว่าเป็นสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานที่ถูกต้องบางสำนักนั้น
มักจะกล่าวอ้างว่าสำนักของตนเป็นสำนักที่ถูกต้อง สำนักอื่น ๆ เป็นสำนักเทียม
เข้าทำนองที่ว่าสินค้านั้นเมื่อมันมีมากจนเกิดล้นตลาดขึ้นมา พ่อค้าก็มักจะอวดอ้างว่าสินค้าของตนเป้นของแท้
สินค้าของคนอื่น ๆ เป็นสินค้าเทียม ดังนั้นจึงขอถือโอกาสเตือนชาวพุทธทั้งหลายไว้
ณ ที่นี่ว่า จงใช้ปัญญาพิจารณาให้ละเอียดเสียก่อนจึงค่อยตัดสินใจลงเชื่อ
อย่าได้เชื่อถือโดยง่ายเป็นเหมือนจำพวกเชื่อถือชนิดที่ถือมลคลชตื่นข่าว
พอได้ยินได้ฟังได้รู้ได้เห็นก็ตัดสินใจลงเชื่อเลยมิได้ใช้ปัญญาตรวจตราาพิจารณาถี่ถ้วนก่อน
เรื่องทำนองนี้มิใช่เพิ่งจะมีขึ้นในสมัยปัจจุบัน
แม้สมัยปางอดีตนมนานมาแล้ว ก็เคยมีเรื่องใส่ร้ายป้านสีกันทำนองนี้มาแล้ว
ดังมีปรากฏอยู่ในหนังสืออรรถกาวิสุทธิมรรค กัมมัฏฐานคหณนิเทศ ตอนหนึ่งว่า
"วิธีเข้าไปหาพระอาจารย์ผู้กัลยาณมิตรซึ่งสอนพระกัมมัฏฐานนั้นอย่าได้ไปแวะพัก
ณ บริเวณอื่นใดด้วยตั้งใจว่าจักพักสักครู่หนึ่ง ล้างเท้าทาน้ำมันเท้าเป็นต้น
แล้วจึงจะไปสำนักของอาจารย์ เพราะเหตุไร? เพราะว่าถ้าในวัดนั้นจะพึงมีพวกภิกษุที่ไม่ลงคลองกันกับอาจารย์นั้น
ภิกษุเหล่านั้นก็จะพึงซักถามถึงเหตุที่มาร แล้วประกาศตำหนิติโทษของอาจารย์ให้ฟัง
จะพึงก่อกวนให้เกิดความเดือดร้อนใจว่า ฉิบหายแล้วซิ ถ้าคุณมาสู่สำนักของภิกษุรูปนั้นข้อนี้ก็จะพึงเป็นเหตุให้ต้องกลับไปเสียจากที่นั่น
เพราะเหตุฉะนั้นพึงถามถึงที่อยู่ของอาจารย์แล้วตรงไปยังที่นั่นเลยทีเดียว"
ปัจจุบัน
มีประเทศที่เคารพนับถือพระพุทธศาสนา และมีการประพฤติปฏิบัติเหมือนประเทศไทยนั้นมีอยู่
๕ ประเทศ คือ ๑ ประเทศไทย ๒ ประเทศพม่า ๓ ประเทศศรีลังกา ๔ ประเทศกันพูชา
๕ ประเทศลาว เรียกว่าพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทหรือหีนยาน และมีประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า
ลัทธิอาจริยวาทหรือมหายานอีก
ข้าพเจ้าเมื่อได้ส้องเสพสมาคมกับเหล่าพุทธบริษัททั้งบรรพพิตและคฤหัสถ์ชาวพม่าดังกล่าวมา
ข้าพเจ้าจึงได้สำนึกตระหนักแน่แก่ใจตนเองว่า ถ้าพุทะบริษัทชาวไทยจะได้พากันทำการพัฒนาพระพุทธศาสนาด้านคันถธุระให้มีความรู้ชำนาญแตกฉานในพระไตรปิฏฐิให้สมบูรณ์
และด้านวิปัสสนาธุระ เจริญสมถกัมมักฐานและเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เป็นการเสริมสร้างฌานสัมมาทิฏฐิและวิปัสสนาสัมมาทิฏฐิให้สมบูรณ์
อย่างน้อยก็เพียงเสมอเหมือนชาวพุทธบริษัทพม่าเท่าที่ข้าพเจ้าได้พิจารณามองเห็น
ก็จะได้ชื่อว่าชาวพุทธไทยได้ช่วยกันพัฒนาพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นโดยถูกต้อง
ต่อจากนั้นก็จะได้ช่วยกันพัฒนาให้เข้าถึงขั้นมัคคสัมมาทิฏฐิและผลสัมมาทิฏฐิ
อันเป็นขั้นสุดท้ายปลายสุดต่อไป
เมื่อพระสงฆ์
ไทยเราได้ช่วยกันพัฒนาพุทธศาสนาให้เจริญก้าวหน้าไปดังกล่าวมานี้ ชื่อว่าได้รักษาพระอมตมรดกไว้ได้
ไม่ปล่อยปละละเลยทอดทิ้งให้สูญสลายไป และได้ชื่อว่าเป็นอันปฏิบัติสนองพระบรมราชปณิธานของสมเด็จบรมพิตรพระราชสมภารเจ้าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ด้วยประการฉะนี้
ภาคปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน
วิปัสสนากัมมัฏฐาน
*****************************************
วิปัสสนากัมมัฏฐาน
แปลว่า กัมมัฏฐานเป็นอุบายทำใจให้เกิดปัญญา รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง
คือ เห็นปัจจุบันธรรม เห็นรูป,นาม เห็นพระไตรลักษณ์ เห็นมรรค,ผล,นิพพาน
ส่วนคำว่า กัมมัฏฐาน นั้น แปลว่า การกระทำที่เป็นเหตุให้ได้บรรลุคุณวิเศษ
คือ ฌาน,มรรค,ผล,นิพพาน
คำว่า กัมมัฏฐาน เป็นคำกลาง ๆ ยังไม่เฉพาะเจาะจงไปว่าเป็นสมถะหรือวิปัสสนา
ถ้าจะให้เป็นสมถะก็ให้เติมคำว่าสมถะลงไปข้างหน้า สำเร็จรูปเป็นสมถกัมมัฏฐาน
ถ้าจะให้เป็นวิปัสสนาก็ให้เติมคำว่า วิปัสสนา ลงไปข้างหน้าเป็นวิปัสสนากัมมัฏฐาน
อารมณ์ของวิปัสสนากัมมัฏฐาน
ได้แก่ ขันธ์ ๕ ,อายตนะ ๑๒, ธาตุ ๑๘ ,อินทรย์ ๒๒, อริยสัจ ๔, ปฏิจจสมุปบาท
๑๒ ,ย่อให้สั้นได้แก่ รูป,นาม คือ กายกับใจ
การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น ถึงจะมีความรู้ทางด้านปริยัติดีอย่างไรก็ตาม
ไม่สามารถจะลงมือปฏิบัติด้วยตนเองให้ได้ผลดีได้ พึงเห็นพระโปฐิละเป็นตัวอย่างขนาดเรียนจบพระไตรปิฎก
ก็ต้องอาศัยสามเณรน้อยอายุเพียง ๗ ขวบเป็นอาจารย์แนะนำทางให้ ท่านจึงได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
ดังนั้น ท่านผู้มุ่งปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลอันสูงจริง ๆ แล้ว ต้องมีครูบาอาจารย์คอยสอบอารมณ์คอยต่อบทเรียนให้
จนกว่าจะได้ฟังเทศน์ลำดับญาณ รู้แนวทางแล้วนำไปปฏิบัติด้วยตนเองได้ในโอกาสต่อไป
ถึงจะไปอยู่ ณ ที่ไหน ๆ ก็สามารถปฏิบัติได้ เพราะรู้วิธีแล้ว ตามธรรมเนียมของผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องขึ้นกัมมัฏฐานหรือขึ้นครูเสียก่อน
โบราณเรียกว่าครอบวิชาให้
วิธีสมาทานพระกัมมัฏฐาน
วิธีขึ้นพระกัมมัฏฐานหรือวิธีขึ้นครู
มีดังนี้
๑.ถวายเครื่องสักการะพระอาจารย์
ผู้ให้กัมมัฏฐานก่อน
๒.จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย
๓.ถ้าเป็นพระภิกษุให้แสดงอาบัติเสียก่อน
ถ้าเป็นอุบาสกอุบาสิกาให้สมาทานศีล ๕ หรือศีล ๘ ก่อน
๔.มอบกายถวายตัวแก่พระรัตนตรัยว่า
"อิมาหํ ภควา อตตฺภาวํ ตุมฺหากํ ปริจฺจชามิ"ข้าแต่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า
ข้าพระองค์ขอมอบกายถวายตัวแด่พระรัตนตรัย เพื่อเจริญพระกัมมัฏฐาน
๕.มอบกายถวายตัวแด่พระอาจารย์ว่า
"อิมาหํ อาจริย อตฺตภาวํตุมฺหากํ ปริจฺจชามิ" ข้าแต่พระอาจารย์ผู้เจริญ
กระผมขอมอบกายถวายตัวแก่ท่านพระอาจารย์เพื่อเจริญพระกัมมัฏฐาน
๖.ขอพระกัมมัฏฐานว่า
"นิพฺพานสฺส เม ภนฺเต สจฺฉิกรณตฺถวาย กมฺมฏฐานํ เทหิ" ข้าแต่ท่านผู้เจริญ
ขอท่านได้โปรดให้พระกัมมัฏฐานแก่กระผมเพื่อกระทำให้แจ้งมรรค,ผล,นิพพาน
๗.แผ่เมตตา
"อหํ สุหํ สุขิโต โหมิ, นิทฺทุกฺโข โหมิ, อเวโร โหมิ, อพฺยาปชฺโฌ
โหมิ, อนีโฆ โหมิ สุขี อตฺตานํ ปริหรามิ"" ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุขปราศจากความทุกข์
ไม่มีภัยไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ไม่มีความทุกข์กายทุกข์ใจ
ขอให้มีความสุขรักษาตนอยู่เถิด
"สพฺเพ
สตฺตา สุขิตา โหนฺตุ, นิทฺทุกฺขา โหนฺตุ, อเวรา โหนฺตุ, อนีฆา โหนฺตุ,
สุขี อตฺตานํ อตฺตานํ ปริหรนฺตุ"" ขอให้สัตว์ทั้งหลายทุกตัวตน
จงมีความสุขปราศจากทุกข์ ไม่มีภัย ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนซึ่งกันและกัน
ไม่มีความทุกข์กายทุกข์ใจ ขอให้มีความสุขรักษาตนอยู่เถิด
๘.
เจริญมรณานุสสติว่า "อทฺธุวํ เม ชีวิตํ, ธุวํ มรณํ, อวสฺสํ มยา
มริตพฺพํ มรณปริโยสานํ เม ชีวิตํ, ชีวตเมว อนิยตํ มรณํ นิยตํ""
ชีวิตของเราเป็นของไม่แน่นอน, ความตายเป็นของแน่นอน, เราจะต้องตายแน่,
เพราะชีวิตของเรามีความตายเป็นที่สุดรอบ, ชีวิตเป็นของไม่แน่นอนแท้,
เป็นโชคอันดีที่เราได้โอกาสมาสมาทานพรกัมมัฏฐาน ณ บัดนี้ ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา
๙
ตั้งสัจอธิษฐานว่า "เยเนว ยนฺติ นิพฺพานั พุทฺธา เตสญฺจ สาวกา
เอกายเนน มคฺเคน สติปฏฺฐานสญฺนา"" พระพุทธเจ้าและเหล่าพระอริยสาวก
ย่อมดำเนินไปสู่พระนิพพานด้วยหนทางสายนี้ อันเป็นทางสายเอก ซึ่งนักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลายรู้ทั่วถึงกันว่าได้
แก่ สติปัฏฐาน ๔
ข้าพเจ้าขอตั้งสัจจะอธิษฐานปฏิญาณตนต่อพระรัตนตรัย ต่อครูบาอาจารย์
จะตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้ได้ เพื่อบูชาพระรัตนตรัย
๑๐.
ตั้งความปรารถนาว่า"อิมาย ธมฺมนุธมฺมปฏิปตฺติยา รตนตฺตยํ ปูเชมิ"
ข้าพเจ้าขอบูชาพระรัตนตรัย ด้วยการปฏิบัติธรรมอันสมควรแก่ธรรมนี้ ด้วยสัจจะวาจาที่ได้กล่าวมานี้
ขอให้ข้าพเจ้าสำเร็จผลสมความปรารถนาในเวลาอันไม่ช้าด้วย เทอญ
๑๑.สวดพระพุทธคุณ
พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
๑๒.ถ้าอยู่ป่า
อยู่ในถ้ำ อยู่ภูเขา ให้สวดกรณียเมตตสูตร และสวดขันธปริตรด้วย
วิธีปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน
พระอาจารย์ผู้ให้พระกัมมัฏฐาน
ควรปฏิบัติดังนี้
๑.วันแรกให้กัมมัฏฐานโยคีไปปฏิบัติเพียง
๗ ประการ คือ
๑.เดินจงกรม
ให้ยืนตรง
เอามือขวาไขว้ทับมือซ้ายก็ได้ หรือวางมือทั้งสองไว้ตรง ๆ ก็ได้ หรือเอามือทั้งสองไขว้หลังก็ได้
ทั้งนี้ตามแต่ถนัด ทอดสายตาไปประมาณ ๔ ศอก ลืมตาอย่าหลับตา ใช้สติกำหนดอยู่ที่ร่างกายพร้อมกับภาวนาว่า
"ยืนหนอ, ยืนหนอ, ยืนหนอ" ๓ หน ต่อนั้นให้ใช้สติกำหนดที่ส้นเท้า
เดินช้า ๆ ภาวนาในใจว่า "ขวาย่างหนอ" ขณะที่ใจคิดว่า "ขวา"
ต้องยกส้นเท้าขวานพร้อมกันคือ ใจที่นึกกับท้าที่ยกต้องให้พร้อมกันขณะที่นึกว่า
"ย่าง" ต้องเคลื่อนเท้าไปอย่างช้า ๆ ลากเสียงยาว ๆ แล้วหยุดนิดหนึ่ง
ขณะที่นึกว่า "หนอ" เท้าต้องลงจรดพื้นพร้อมกับว่าหนอ เวลายกเทว้าซ้ายก็ให้ปฏิบัติเหมือนกัน
ภาวนาในใจว่า "ซ้ายย่างหนอ" เช่นเดียวกัน
ให้ส้นเท้าข้างหนึ่งกับปลายเท้าข้างหนึ่ง ห่างกันประมาณ ๓ นิ้ว เมื่อเดินไปจบสถานที่เดิน
ให้เอาเท้าเสมอกันหยุดยืนอยู่หน่อย ภาวนาในใจว่า "ยืนหนอ"
๓ หน ว่าช้า ๆ ประมาณ ๓-๔ ครั้ง ขณะนั้นให้ใช้สติกำหนดที่ร่างกาย อย่างให้ออกไปภายนอกร่ายกายแล้วหันกลับ
การหันกลับนั้นจะกลับข้างขวาหรือซ้ายก็ได้ ถ้ากลับข้างขวา ขณะกลับให้ส้นเท้าติดอยู่กับพื้น
ยกปลายเท้าให้พ้นพื้นแล้วค่อย ๆ หมุนไป พร้อมกับภาวนาในใจว่า "กลับหนอ"
๓ หน ให้หมุนไปประมาณ ๔-๕ นิ้ว ส่วนเท้าซ้ายยกขึ้นพ้นพื้นแล้วหมุนตามไป
พร้อมกับภาวนาในใจว่า "กลับหนอ" ๓ หน เช่นเดียวกันให้ทำอย่างนี้ประมาณ
๔ คู่ ก็จะพอดีกับความต้องการที่จะหยุดแล้วยืนตรงอยู่กับที่พร้อมกับภาวนาว่า
"ยืนหนอ" ๓ หน หรือ ๔ หน แล้วเดินจงกรมต่อไปโดยภาวนาว่า
"ขวาย่างหนอ, ซ้ายย่างหนอ" ให้เดินกลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้ประมาณ
๓๐ นาทีหรือ ๑ ชั่วโมง เมื่อเดินพอสมควรแก่เวลาแล้ว ก็ให้นั่งติดต่อกันไปเลยจึงจะไม่ขาดระยะ
สติ, สมาธิ, ปัญญาจึงจะแก่กล้า
๒.นั่ง
ให้เตรียมจัดอาสนะสำหรับนั่งไวก่อน
เดินจงกรม เมื่อเดินคบกำหนดแล้วให้นั่งลง เวลานั่งให้ค่อย ๆ ย่อตัวลงพร้อมกับภาวนาว่า
"นั่งหนอ" ๓ หน ให้ภาวนาอย่างนี้เรื่อยไปจนกว่าจะนั่งเสร็จเรียบร้อย
วิธีนั่งขัดสมาธิคือ เอาขาขวาทับขาซ้าย เอามือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง
ดำรงสติให้มั่น ถ้าจำเป็น จะนั่งเก้าอี้หรือนั่งพับเพียบก็ได้ นั่งเรียบร้อยแล้วให้หลับตาใช้สติมากำหนดอยู่ที่ท้อง
เหนือสะดือประมาณ ๒ นิ้ว เวลาหายใจเข้า ท้องพอง ให้ภาวนาตามอาการพองว่า
"พองหนอ" ใจที่นึกกับท้องที่พองต้องให้พร้อม ๆ กันพอดี อย่าให้ก่อนหรือหลังกันจึงจะได้ปัจจุบันธรรมดี
เวลาหายใจออกท้องยุบ ให้ภาวนาว่า "ยุบหนอ" ใจที่นึกกับที่ท้องยุบต้องให้พร้อมกัน
อย่างให้ก่อนหรือหลังกัน
ข้อสำคัญ ให้จิตจับอยู่ที่อาการแฟบของท้องเท่านั้น อย่าไปดูลมที่จมูกและอย่าตะแบงท้อง
ให้นั่งภาวนาอย่างนี้ตลอดไป อย่างน้อยประมาณ ๓๐-๔๐ นาที อย่างมากประมาณ
๑ ชั่วโมง หรือเกินกว่านั้นยิ่งดี
๓.เวทนา
เวทนา
คือ สุข , ทุกข์และเฉย ๆ ในขณะที่นั่งอยู่นั้นถ้าเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นเช่น
เจ็บ ปวด เมื่อย คัน เป็นต้น พร้อมกับภาวนาว่า "เจ็บหนอ"
หรือ "ปวดหนอ" , " เมื่อยหนอ" หรือ "คันหนอ"
ตามอาการของเวทนานั้น ๆ สุดแต่เวทนาอย่างใดจะเกิดขึ้น เมื่อเวทนานั้นหายแล้วให้กลับไปกำหนดที่ท้องว่า
"พองหนอ-ยุบหนอ" ต่อไปอีกจนกว่าจะครบกำหนดเวลาที่ตนกำหนดไว้
๔.จิต
ในเวลาที่นั่งกำหนดอยู่นั้น
ถ้าจิตคิดถึงบ้านคิดถึงทรัพย์หรือคิดถึงกิจการงานต่าง ๆ ให้ใช้สติกำหนดหัวใจ
พร้อมกับภาวนาว่า "คิดหนอ ๆ " จนกว่าจะหยุดคิด เมื่อหยุดคิดแล้วกลับไปกำหนด
"พองหนอ, ยุบหนอ" ต่อไปอีก แม้ดีใจหรือเสียใจ เช่น โกรธเป็นต้น
ก็ให้กำหนดที่หัวใจโดยทำนองเดียวกัน คือ ถ้าดีใจให้กำหนดว่า "ดีใจหนอ
ๆ " ถ้าเสียใจก็ให้กำหนดว่า "เสียใจหนอ ๆ " ถ้าโกรธให้กำหนดว่า
"โกรธหนอ ๆ " จนกว่าอารมณ์นั้นจะหายไป เมื่อหายไปแล้วกลับไปกำหนด
"พองหนอ, ยุบหนอ" ต่อไปอีกจนกว่าจะได้เวลา
๕.เสียง
ในขณะที่นั่งกำหนดอยู่นั้น
ถ้ามีเสียงดังหนวกหูให้ใช้สติกำหนดที่หูและภาวนาวา "ได้ยินหนอ
ๆ " จนกว่าจะหายหนวกหู เมื่อหายแล้วกลับไปกำหนด "พองหนอ
, ยุบหนอ" ต่อไป
๖.นอน
เวลานอนให้ค่อย
ๆ เอนตัวลงพร้อมกับภาวนาว่า "นอนหนอ ๆ " จนกว่าจะนอนเรียบร้อย
ขณะภาวนานั้นใช้สติกำหนดอาการทีเคลื่อนไหวของร่างกาย เมื่อนอนเรียบร้อยแล้วให้ใช้สติกำหนดที่ท้องพร้อมกับภาวนาว่า
"พองหนอ,ยุบหนอ" ต่อไปจนกว่าจะหลับ จงสังเกตให้ดีว่าจะหลับตอนพองหรือตอนยุบ
วันแรกให้บทเรียนไปปฏิบัติเพียงย่อ ๆ เท่านี้ก่อน วันต่อไปให้โยคีผู้ปฏิบัติไปส่งอารมณ์
คือ ไปสอบกัมมัฏฐานกับอาจารย์ คือ
วันที่ ๒ เมื่ออาจารย์สอบอารมณ์ พระกัมมัฏฐานแล้ว ให้เพิ่มบทเรียน
๑ บท คือ กำหนดต้นใจ หมายความว่า เมื่ออาจารย์ได้สอบอารมณ์โดยละเอียดนับแต่การเดิน
การนั่ง เวทนา จิตและการนอน แล้วถามถึงสภาวะต่อไปเช่น ถามว่าพอง กับ
ยุบ อันใดสั้นอันใดยาว อันไหนปรากฏชัด อันไหนไม่ปรากฏชัด เป็นอันเดียวกันหรือเป็นคนละอัน
พองหนอครั้งหนึ่งมีกี่ระยะเป็นต้น เมื่อสอบเสร็จแล้วจึงเพิ่มบทเรียนได้
การเพิ่มบทเรียนวันนี้ได้แก่ให้กำหนดต้นใจ
ต้นใจนั้น ได้แก่ความอยาก เช่นอยากลุก อยากยืน อยากเดิน อยากนั่ง อยากนอน
อยากถ่ายอุจจาระ อยากถ่ายปัสสาวะ เป็นต้น จะยกมาแสดงพอเป็นตัวอย่าง
เช่น เวลาจะลุกให้ใช้สติกำหนดที่หัวใจ ภาวนาว่า "อยากลุกหนอ"
เวลาลุกขึ้นให้ภาวนาว่า "ลุกหนอ" เวลาจะเดินให้ภาวนาว่า
"อยากจะเดิน" แล้วจึงเดิน เวลาเดินก็ให้ภาวนาว่า "ขวาย่างหนอ
ซ้ายย่างหนอ" ดังที่เคยปฏิบัติมาแล้วนั้น
หมายเหตุ
ข้อสำคัญนี้เราจะทำอะไรทุก
ๆ อย่างให้กำหนดต้นใจทุก ๆ ครั้ง เวลาจะรับประทานอาหารให้ภาวนาว่า
"อยากหนอ ๆ " เวลารับประทานให้ภาวนาว่า "รับประทานหนอ
ๆ " หรือว่า ย่อ ๆ "ทานหนอ ๆ " ดังนี้ก็ได้ ให้ใช้สติกำหนดที่ขากรรไกรข้างล่าง
วันที่ ๓ หรือวันที่ ๔ วันที่ ๕ ให้เพิ่มบทเรียนได้อีก ๑ บท คือเพิ่มการกำหนดทวารทั้ง
๕ ได้แก กำหนดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย มีวิธีปฏิบัติ ดังนี้
๑.เวลาตาเห็นรูปให้ตั้งสติไว้ที่ตา
ภาวนาว่า "เห็นหนอ ๆ "
๒.เวลาหูได้ยินเสียงให้ตั้งสติไว้ที่หู
ภาวนาว่า "ได้ยินหนอ ๆ "
๓.เวลาจมูกได้กลิ่นให้ตั้งสติไว้ที่จมูก
ภาวนาว่า "กลิ่นหนอ ๆ "
๔.เวลาลิ้นรู้รสให้ตั้งสติไว้ที่ลิ้น
ภาวนาว่า "รสหนอ ๆ "
๕.เวลากายถูกต้องกับเย็น
ร้อน อ่อน แข็ง ให้ตั้งสติไว้ตรงที่ถูกภาวนาว่า "ถูกหนอ ๆ "
วันต่อไป
เมื่อญาณที่ ๑-๒ เกิดขึ้นแล้วให้เพิ่มบทเรียนอีก ๑ บท คือ เพิ่มเดินจงกรมระยะที่
๒ ว่า "ยกหนอ, เหยียบหนอ" ทุกครั้งที่ปฏิบัติต้องให้เดินจงกรมระยะที่
๑ ก่อน เดินประมาณ ๓๐ นาที แล้วจึงเดินระยะที่ ๒ ประมาณ ๓๐ นาที รวมเป็น
๑ ชั่วโมง จึงนั่งภาวนาว่า "พองหนอ, ยุบหนอ ๆ " ต่อไป
วันต่อไป เวลากำหนด "ยุบหนอ" นั้น ถ้ารู้สึกว่าทิ้งจังหวะไว้นานท้องจึงจะพองขึ้นมา
ให้เพิ่มคำว่า "นั่งหนอ" ต่อได้ ตอนที่ว่านั่งหนอนั้น รูปนั่งปรากฏในใจดุจส่องกระจกดูตัวเอง
เห็นชั่วแวบเดียวเท่านั้น
เมื่อต่อเข้ากับบทเรียนเดิมก็จะได้วิธีปฏิบัติ ดังนี้
ก.เวลาเดินจงกรมได้
๒ ระยะ คือ
ระยะที่
๑ ขวา-ย่าง-หนอ ซ้าย-ย่าง-หนอ
ระยะที่
๒ ยก-หนอ-เหยียบ-หนอ ยก-หนอ-เหยียบ-หนอ
ข.เวลานั่งปฏิบัติจะได้
๒ ระยะ คือ
ระยะที่
๑ พอง-หนอ ยุบ-หนอ
ระยะที่
๒ พอง-หนอ ยุบ-หนอ นั่ง-หนอ
(ตอนยุบได้
๒ ระยะ คือเพิ่มนั่ง เข้าไปต่อยุบ อีก ๑ บท)
วันต่อไป
เมื่อญาณที่ ๓ ที่ ๔ เกิดขึ้นแล้ว ให้เพิ่มบทเรียนได้อีก ๑ บท คือ
เดินจงกรมระยะที่ ๓ กำหนดว่า "ยกหนอ, ย่างหนอ, เหยียบหนอ"
เมื่อต่อเข้ากับบทเรียนเดิมก็จะได้วิธีปฏิบัติดังนี้ คือ
ระยะที่
๑ "ขวาย่างหนอ, ซ้ายย่างหนอ" เดินนานประมาณ ๑๐-๒๐ นาที
ระยะที่
๒ "ยกหนอ, เหยียบหนอ" เดินนานประมาณ ๑๐ - ๒๐ นาที
ระยะที่
๓ "ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ" เดินนานประมาณ ๑๐ - ๒๐ นาที
วันต่อไป เวลากำหนด"พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ" เมื่อถึงบทว่า
"นั่งหนอ" นั้น ถ้ายังทิ้งระยะห่างอยู่ คือท้องยังไม่พองขึ้นมาเร็ว
ให้เพิ่มคำว่า"ถูกหนอ" ได้อีก ถ้าโยคีผู้ใดกำหนดเพียง"พองหนอ
ยุบหนอ" ก็ได้สมาธิอยู่แล้วไม่จำเป็นจะต้องเพิ่ม นั่งหนอ ถูกหนอ
ลงไปอีก หรือคนแก่และเด็ก ๆ ก็ไม่ควรเพิ่ม แม้เวลาเดินจงกรมจะใช้เพียง
"พองหนอ ยุบหนอ" ก็ได้ เพราะถ้าเพิ่มบทเรียนมากกว่านั้น
อาจจะทำให้ฟั่นเฝือและจะไม่ได้ผลดี เมื่อไม่ได้ผลดี เมื่อเพิ่มบทเรียนว่าถูกหนอเจ้าไปอีก
จะได้วิธีปฏิบัติเต็มที่ดังนี้ "พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ"
หมายเหตุ คำ "ถูกหนอ" หมายเอาถูกที่ก้นย้อยหรือก้นกบ พอถูกกับพื้นแล้วใช้สติกำหนดตรงที่ถูกนั้น
ยุบ-นั่ง-ถูก ทั้ง ๓ บทนี้ต้องอยู่ในระยะเดียวกัน เมื่อภาวนาว่าถูกหนอแล้ว
ท้องจึงจะพองขึ้นมา
เมื่อญาณที่ ๕ ที่ ๖ เกิดขึ้นแล้ว ให้เพิ่มบทเรียนขึ้นอีก ๑ บท คือเพิ่มเดินระยะที่
๔ ดังนี้ "ยกส้นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ " เมื่อต่อกันเข้ากับบทเรียนเดิมก็จะได้วิธีปฏิบัติดังนี้
คือ-
ระยะที่
๑ "ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ" เดินประมาณ ๑๐-๑๕ นาที
ระยะที่๒
"ยกหนอ เหยียบหนอ" เดินประมาณ ๑๐-๑๕ นาที
ระยะที่
๓ "ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ" ประมาณ ๑๐-๑๕ นาที
ระยะที่
๔ "ยกส้นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ" ประมาณ ๑๐-๑๕ นาที
เมื่อญาณที่ ๗-๘-๙-๑๐ เกิดแล้ว ให้เพิ่มบทเรียนขึ้นอีก ๑ บท คือ เพิ่มเดินจงกรมระยะที่
๕ ดังนี้ "ยกส้นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ ลงหนอ ถูกหนอ" เมื่อต่อกันเข้ากับบทเรียนเดิมจะได้วิธีปฏิบัติดังนี้
คือ
ระยะที่
๑ "ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ" ใช้เวลา ๑๐ นาที
ระยะที่
๒ "ยกหนอ เหยียบหนอ" ใช้เวลา ๑๐ นาที
ระยะที่
๓ "ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ" ใช้เวลา ๑๐ นาที
ระยะที่
๔ "ยกส้นหนอ, ยกหนอ, ย่างหนอ, เหยียบหนอ" ใช้เวลา ๑๐ นาที
ระยะที่
๕ "ยกส้นหนอ, ยกหนอ, ย่างหนอ, ลงหนอ, ถูกหนอ" ใช้เวลา ๑๐
นาที
ระยะที่
๖ "ยกส้นหนอ, ยกหนอ, ย่างหนอ, ลงหนอ, ถูกหนอ, กดหนอ" ใช้เวลา
๑๐ นาที
ถ้ามีเวลามากให้เดินระยะ
๑๐ นาที รวมเป็น ๑ ชั่วโมง รวมเป็น ๑ ชั่วโมง แล้วจึงนั่งสมาธิ ถ้ามีเวลาน้อยก็ให้ผู้ปฏิบัติลดลงได้เอง
คือจะเดินระยะ ๕ นาทีก็ได้น้อยกว่านั้นมากกว่านั้นก็ได้
มีหลักสำคัญอยู่ว่า
ถ้าเดินมากสมาธิก็แก่กล้า ถ้าเดินน้อยสมาธิก็อ่อนและได้ผลช้า
ส่วนการนั่งนั้น เพื่อเป็นการฝึกสติ, สมาธิ, ปัญญาให้แก่กล้าเข้มแข็งให้เพิ่มการถูกได้อีกถึง
๖ แห่ง คือ
๑.พองหนอ,
ยุบหนอ, นั่งหนอ, ถูกหนอ (ถูกกันย้อยขวา)
๒.พองหนอ,
ยุบหนอ, นั่งหนอ, ถูกหนอ (ถูกก้นย้อยซ้าย)
๓.พองหนอ,
ยุบหนอ, นั่งหนอ, ถูกหนอ (ถูกเข่าขวา)
๔.พองหนอ,
ยุบหนอ, นั่งหนอ, ถูกหนอ (ถูกเข่าซ้าย)
๕.พองหนอ,
ยุบหนอ, นั่งหนอ, ถูกหนอ (ถูกตาตุ่มขวา)
๖.พองหนอ,
ยุบหนอ, นั่งหนอ, ถูกหนอ (ถูกตาตุ่มซ้าย)
เป็นอันได้ความว่าบทเรียนนี้ครบสมบูรณ์แล้ว
ญาณที่ ๑๑ ก็จะแก่กล้าขึ้นมาพอสมควร เมื่อญาณนี้ครบองค์ ๖ ประการแล้วอาจารย์ต้องเตือนโยคีผู้ปฏิบัติไม่ให้ประมาท
ให้ตั้งใจปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ระมัดระวังให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
เพราะจวนจะได้ผลดีเต็มที่แล้วอย่านอนใจ อย่านึกว่ายังไกลอยู่ที่แท้ใกล้จะได้ผลอยู่แล้ว
ถ้าโยคีบุคคลผู้ใดไม่ประมาท พยายามปฏิบัติตามระเบียบและคำแนะนำของอาจารย์อย่างเคร่งครัด
โยคีผู้นั้นก็จะได้บรรลุอริยผลโดยไม่นานเลย สักภายใน ๒ ถึง ๓ วันเท่านั้น
แต่ถ้าโยคีบุคคลใดไม่ปฏิบัติให้ติดต่อกัน โยคีบุคคลนั้นก็จะได้ผลช้า
อาจจะเลยไปถึง ๕ วัน ๑๐ วัน หรือ ๑๕ วันก็ได้ อาจจะไม่ได้ผลเต็มที่ก็เป็นได้
ดังนั้นในระยะกาลเข้าด้ายเข้าเข็มนี้ จึงควรระมัดระวังให้มากที่สุดเท่าที่จะระมัดระวังได้
แม้กระทั่งชีวิตก็ควรยอมสละ
การอธิษฐาน
เมื่อโยคีปฏิบัติมีสภาวะชัดดีแล้ว อาจารย์ผู้สอบอารมณ์พึงให้โยคีอธิษฐาน
ดังนี้
วันแรก
ให้เดินจงกรมแต่ระยะที่
๑ ถึงที่ ๖ แล้วนั่งขัดสมาธิอธิษฐานว่า "ธรรมวิเศษที่เกิดขึ้นแล้วขอให้เกิดขึ้นอีก
ธรรมวิเศษเบื้องสูงที่ยังไม่เกิดขอให้เกิดขึ้นภายใน ๒๔ ชั่วโมงนี้"
แล้วกำหนด "พองหนอ-ยุบหนอ" ต่อไปถ้านั่งกำหนดเหนื่อยแล้ว
ให้เดินจงกรมอีก แล้วนั่งปฏิบัติให้ติดต่อกันสลับกันอยู่อย่างนี้ จนกว่าจะถึงเวลานอน
วันนี้ถือว่าเป็นสำคัญมากในชีวิตของเรา ดังนั้นถ้าไม่ง่วงจริง ๆ อย่านอน
เมื่อนอนตื่นขึ้นก็ให้ปฏิบัติเช่นนั้นต่อ ๆ ไปอีก จนกว่าจะครบ ๒๔ ชั่วโมง
จึงจะต่อบทเรียนที่ ๒ ได้
วันที่
๒
เดินจงกรมระยะที่
๑ ถึงที่ ๖ แล้วนั่งสมาธิอธิษฐานว่า "ภายใน ๒๔ ชั่วโมงนี้ ขอให้ความเกิดดับเกิดขึ้นให้มาก"
แล้วกำหนด"พองหนอ-ยุบหนอ"ต่อไป จนกว่าจะครบ ๒๔ ชั่วโมง จึงจะต่อบทเรียนใหม่ได้
วันที่ ๓
เดินจงกรมระยะที่
๑ ถึงที่ ๖ แล้วนั่งสมาธิอธิษฐานว่า "ภายในชั่วโมงนี้ ขอให้ความเกิดดับเกิดขึ้นให้มาก"
แล้วกำหนด"พองหนอ-ยุบหนอ" ต่อไป บทนี้ให้อธิษฐานทุกชั่วโมงที่นั่ง
วันที่
๔
เดินจงกรมระยะที่
๑ ถึงที่ ๖ แล้วนั่งสมาธิอธิษฐานว่า "ภายใน ๓๐ นาทีนี้ ขอให้ความเกิดดับเกิดขึ้นให้มาก"
แล้วกำหนด "พองหนอ -ยุบหนอ" ต่อไป บทนี้ให้อธิษฐานทุก ๓๐
นาทีที่นั่ง
วันที่
๕
เดินจงกรม
ระยะที่ ๑ ถึงที่ ๖ แล้วนั่งสมาธิอธิษฐานว่า "ภายใน ๑๕ นาทีนี้
ขอให้ความเกิดดับเกิดขึ้นให้มาก" นั่งกำหนดไปขนครบ ๑๕ นาที "
"ภายใน
๑๐ นาทีนี้ ขอให้ความเกิดดับเกิดขึ้นให้มาก" นั่งสมาธิกำหนดไปจนครบ
๑๐ นาที
"ภายใน
๕ นาทีนี้ ขอให้ความเกิดดับเกิดขึ้นให้มาก" นั่งสมาธิกำหนดไปจนครบ
๕ นาที
วันที่
๖
เดินจงกรมระยะที่
๑ ถึงที่ ๖ แล้วนั่งสมาธิอธิษฐานว่า "ภายในชั่วโมงนี้ ขอให้จิตสงบเงียบไปได้นานประมาณ
๕ นาที" แล้วกำหนด "พองหนอ ยุบหนอ" ต่อไป บทนี้ต้องเดินจงกรมนาน
นั่งนานจึงจะได้ผลดีเพราะต้องการสมาธิให้เป็นพิเศษกว่าธรรมดา
ถ้าจิตสงบได้ ๕ นาทีตามที่ได้อธิษฐานไว้ ต่อไปให้อธิษฐานเพิ่มว่า"ขอให้จิตสงบเงียบไปได้นานประมาณ
๑ๆ นาที" ถ้าได้ ๑ๆ นาทีตามที่ได้อธิษฐานไว้ ก็ให้อธิษฐานเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
จนได้ ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมง ๕ ชั่วโมง ฯลฯ ๘ ชั่วโมง
ฯลฯ ๑๒ ชั่วโมง ฯลฯ ๒๔ ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น เพราะบางบุคคลอาจจะอธิษฐานได้ถึง
๓๐ ชั่วโมง ๔๐ ชั่วโมง ๗๒ ชั่วโมงก็มี ทั้งนี้สุดแต่วาสนาบารมีของแต่ละบุคคลซึ่งสร้างสมมาไม่เท่ากัน
ผลแห่งการปฏิบัติธรรม
การปฏิบัติธรรมนั้นเป็นเรื่องของการสร้างความสงบ
ไม่ใช่เรื่องยุ่งเรื่องวุ่นวาย เป็นการเย็นใจตลอดเวลา การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นการปฏิบัติธรรมขึ้นสูงสุด
เป็นทางสายเอก เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เป็นการปฏิบัติเพื่อพ้นจากกิเลสและวัฏทุกข์ทั้งปวง
ถึงขั้นบรมสุขอย่างแท้จริง การที่จะได้ความรู้อย่างซาบซึ้งในพระพุทธศาสนา
และมองเห็นความอัศจรรย์ของพระพุทธศาสนา ก็มีอยู่ทางเดียวเท่านั้น คือการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเท่านั้น
การนับถือพระพุทธศาสนานั้นถ้าจะไม่ให้เป็นเพียงนับถือแต่ปากแล้วต้องนับถือให้ได้ครบทั้ง
๓ ขึ้นตอน คือ ขั้นปริยัติ ขึ้นปฏิบัติ และขึ้นปฏิเวธ ดั่งพรรณนามาแล้วในตอนต้นนั้นแล
|