พระราชบัญญัติ คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่
พ.ศ. 2535
ภูมิพลอดุลยเดช
ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2535
เป็นปีที่ 47 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราช โองการโปรดเกล้า
ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสุขภาพของ
ผู้ไม่สูบบุหรี่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดย
คำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพ ของผู้ไม่สูบบุหรี่
พ.ศ. 2535
มาตรา 2* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ
ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
*[รก.2535/40/20/7 เมษายน 2540]
มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้
"บุหร"ี่ หมายความว่า บุหรี่ซิกาแรต บุหรี่ซิการ์ บุหรี่อื่น
ยาเส้น หรือยาเส้นปรุงตามกฎหมายว่าด้วยยาสูบ
"สูบบุหรี่" หมายความรวมถึงการกระทำใด ๆ ซึ่งมีผลทำให้เกิดควัน
จากการเผาไหม้ของบุหรี่
"สถานที่สาธารณะ" หมายความว่า สถานที่หรือยานพาหนะใด ๆ
ซึ่งประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้
"ผู้ดำเนินการ" หมายความว่า เจ้าของ ผู้จัดการ ผู้ควบคุม
หรือ ผู้ที่รับผิดชอบดำเนินงานของสถานที่สาธารณะ
"เขตปลอดบุหรี่" หมายความว่า บริเวณที่ห้ามมิให้มีการสูบบุหรี่
"เขตสูบบุหรี่" หมายความว่า บริเวณที่ให้มีการสูบบุหรี่ได้
"พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการ
ตามพระราชบัญญัตินี้
"รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา
(1) กำหนดชื่อหรือประเภทของสถานที่สาธารณะที่ให้มีการคุ้มครอง
สุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่
(2) กำหนดส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของสถานที่สาธารณะตาม
(1) เป็นเขตสูบบุหรี่หรือเขตปลอดบุหรี่
(3) กำหนดสภาพ
ลักษณะ และมาตรฐานของเขตปลอดบุหรี่และเขต สูบบุหรี่เกี่ยวกับการระบายควันหรืออากาศ
(4) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการแสดงเครื่องหมายในเขต
สูบบุหรี่หรือเขตปลอดบุหรี่
ประกาศตาม (3) หรือ (4) ให้กำหนดวัน เวลา หรือระยะเวลา ที่ผู้ดำเนินการจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในประกาศด้วย
มาตรา 5 เมื่อรัฐมนตรีประกาศตามมาตรา 4 แล้ว ให้ผู้ดำเนินการ มีหน้าที่
(1) จัดให้ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของสถานที่สาธารณะเป็นเขต
สูบบุหรี่และเขตปลอดบุหรี่
(2) จัดให้เขตสูบบุหรี่มีสภาพ
ลักษณะ และมาตรฐานตามที่รัฐมนตรี กำหนด
(3) จัดให้มีเครื่องหมายในเขตสูบบุหรี่หรือเขตปลอดบุหรี่ตามหลักเกณฑ์
และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนด
มาตรา 6 ห้ามมิให้ผู้ใดสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่
มาตรา 7 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานที่สาธารณะ ตามที่รัฐมนตรีประกาศตามมาตรา
4 (1) และ (2) ในระหว่างเวลา พระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หรือเวลาทำการของสถานที่นั้น
เพื่อตรวจสอบ หรือควบคุมให้การเป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 8 ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แสดงบัตร ประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง
บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศ
กำหนดในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา 9 ให้ผู้ดำเนินการและบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถานที่สาธารณะ
อำนวยความสะดวกตามสมควรแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา
7
มาตรา 10 ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงาน เจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 11 ผู้ดำเนินการผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 5 (1) ต้อง ระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
ผู้ดำเนินการผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 5 (2) ต้องระวางโทษปรับ ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
ผู้ดำเนินการผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 5 (3) ต้องระวางโทษปรับ ไม่เกินสองพันบาท
มาตรา 12 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 6 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน สองพันบาท
มาตรา 13 ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงาน เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติการตามมาตรา
7 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 14 บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานสอบสวน ผู้มีอำนาจทำการสอบสวนคดีนั้น
มีอำนาจเปรียบเทียบได้ตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 15 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรักษาการตาม พระราชบัญญัตินี้
และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ กับออกประกาศ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
ประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อานันท์ ปันยารชุน
นายกรัฐมนตรี
_______________________
หมายเหตุ:-
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ เป็นการยอมรับในทางการแพทย์ว่า
ควันบุหรี่เป็นผลเสียแก่สุขภาพของผู้สูบ และผู้ไม่สูบบุหรี่ที่อยู่ใกล้เคียงหลายประการ
เช่น อาจทำให้เกิดมะเร็ง ของปอดและอวัยวะอื่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
อีกทั้งควันบุหรี่ยังทำให้โรค บางโรค เช่น โรคหอบ หืดหรือโรคภูมิแพ้มีอาการกำเริบขึ้น
นอกจากนั้น ยังพิสูจน์ได้ว่าการที่ผู้ไม่สูบบุหรี่ต้องสูดควันบุหรี่ซึ่งผู้อื่นสูบเข้าไปก็ยังเป็น
ผลเสียแก่สุขภาพของผู้นั้นเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับผู้สูบบุหรี่เอง
โดยเฉพาะ อย่างยิ่งในกรณีที่ผู้สูดควันบุหรี่นั้นเป็นเด็ก สมควรที่จะคุ้มครองสุขภาพของ
ผู้ไม่สูบบุหรี่มิให้ต้องรับควันบุหรี่ในสถานที่สาธารณะ โดยการห้ามสูบบุหรี่
ในบางสถานที่หรือการจัดเขตให้สูบบุหรี่โดยเฉพาะหรือโดยวิธีอื่น ๆ
จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้