พรบ.คณะสงฆ์กับอนาคตพระพุทธศาสนาในไทย
บทความโดย ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์


 

            นับตั้งแต่การออกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับแรกในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ (ร.ศ. ๑๒๑) จนถึงบัดนี้นับได้ ๑๐๐ ปีเต็ม ถ้าหาก พ.ร.บ. คณะสงฆ์ที่ผ่านมา ดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้องตามที่ควรจะเป็น และยังความรุ่งเรืองให้แก่พระพุทธศาสนาแล้ว เราคงจะได้เฉลิมฉลองวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีกันอย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติ แต่ในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปีในปีนี้ พ.ร.บ. คณะสงฆ์กลับนำความแตกแยกและความยุ่งยากมาสู่ชาวพุทธในสังคมไทย คำถามที่ตามมาก็คือเกิดอะไรขึ้นแก่พระพุทธศาสนาของไทยในรอบ ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา

            ผู้เขียนขอมอง พ.ร.บ. คณะสงฆ์ที่ผ่านมาทั้งอดีตและปัจจุบันใน ๓ บริบทคือ (๑) พ.ร.บ. คณะสงฆ์ในบริบทของสังคมไทย (๒) พ.ร.บ. คณะสงฆ์ในบริบทของคณะสงฆ์ และ (๓) พ.ร.บ. คณะสงฆ์ในบริบทของภัยคุกคามจากภายนอก ขณะเดียวกันก็นำเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ที่พึงปรารถนาเป็น ๒ แนวทางคือ (๔) พ.ร.บ. พุทธบริษัทสี่ และ (๕) การคืนอำนาจแก่ประชาชน โดยจะวิเคราะห์ว่า พ.ร.บ. คณะสงฆ์ทั้งหมดดังกล่าว จะส่งผลอย่างไรต่ออนาคตพระพุทธศาสนาของไทย

 

พ.ร.บ.สงฆ์ในบริบทของสังคมไทย

            ก่อนที่จะมีการออก พ.ร.บ.สงฆ์ฉบับแรกนั้น พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองอยู่บนผืนแผ่นดินไทยมานานกว่า ๒,๐๐๐ ปีโดยไม่มีกฎหมายใด ๆ รองรับ ปัจจัยสำคัญแห่งความเจริญรุ่งเรืองดังกล่าวมาจาก “ความสัมพันธ์ ๓ เส้า” ที่ได้สมดุลกันคือ พระสงฆ์ ประชาชน และรัฐ ในอดีตนั้นประชาชนหรือชุมชนควบคุมพระสงฆ์ในเชิงวัตถุ เช่น ประชาชนเป็นผู้ที่สร้างวัดให้แก่พระสงฆ์ที่ตนเคารพนับถือ บำรุงพระภิกษุสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบด้วยวัตถุปัจจัยต่าง ๆ หากพระสงฆ์รูปใดประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัย ประชาชนในชุมชนนั้นเมื่อทราบก็จะถอนการอุปัฏฐากบำรุงเลี้ยง พระสงฆ์รูปนั้นก็ไม่อาจจะอยู่ในชุมชนนั้นได้อีก ต้องสึกหาลาเพศไปตามแต่กรณี นี้เป็นอำนาจการตรวจสอบของประชาชนที่มีต่อพระสงฆ์

            ขณะเดียวกันพระสงฆ์ควบคุมประชาชนในเชิงจิตใจ หมายความว่าพระสงฆ์มีหน้าที่หลักคือศึกษาและปฏิบัติธรรม แล้วนำความรู้ที่ได้นั้นมาสั่งสอนชี้แนะแก่ประชาชน ว่ากล่าวตักเตือนประชาชนมิให้ประพฤติตนเสื่อมเสีย ประชาชนที่ถูกพระสงฆ์ติเตียนก็จะได้สำนึกกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี พระสงฆ์จึงควบคุมประชาชนในเชิงจิตใจ ส่วนเรื่องสถานที่ปฏิบัติธรรม ปัจจัยสี่ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ นั้น ประชาชนเป็นผู้จัดหาให้ มิใช่กิจของสงฆ์ที่จะแข่งขันกันสร้างวัตถุ หรือสะสมทรัพย์สินใด ๆ

            ส่วนรัฐนั้นมีหน้าที่ในการปกป้องภัยอันจะเกิดแก่พระพุทธศาสนา ภัยของพระพุทธศาสนามีทั้งจากภายในและภายนอก ภัยภายในก็คือเมื่อมีผู้ปลอมปนมาบวชเป็นพระภิกษุเพื่อแสวงหาลาภสักการะ ประพฤติตนเป็นที่เสื่อมเสีย รัฐมีหน้าที่โดยตรงในการขจัดภัยเหล่านั้น โดยการเข้าไปตรวจสอบ วินิจฉัย และจับสึกเมื่อผิดจริง ดังเช่นที่พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดีย และพระมหากษัตริย์แห่งสยามในครั้งอดีตได้ทรงปฏิบัติเป็นตัวอย่างไว้แล้ว ส่วนภัยภายนอกก็คือการคุกคามจากศาสนาหรือลัทธิความเชื่ออื่น ในอันที่จะบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาให้เสื่อมสูญไปทั้งทางตรงและทางอ้อม รัฐนั้นจะต้องมีความเข้มแข็งเด็ดขาดในการขจัดภัยจากศาสนาอื่นหรือลัทธิความเชื่ออื่นเหล่านั้น และกำหราบให้เข็ดขยาดมิให้มากล้ำกรายพระพุทธศาสนาได้อีก

            การประกาศใช้ พ.ร.บ.สงฆ์ ทั้ง ๓ ฉบับที่ผ่านมา ได้นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่รากฐานของพระพุทธศาสนาในสังคมไทยอย่างใหญ่หลวง มีการนำ “ระบบราชการ” ซึ่งมีการบังคับบัญชาตามลำดับชั้นมาใช้อย่างเคร่งครัด การให้คุณให้โทษแก่พระสงฆ์ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจในคณะสงฆ์ตามลำดับชั้น มิได้อยู่ที่ประชาชนในชุมชนอีกต่อไป และรัฐก็มิได้ทำหน้าที่ตรวจสอบคณะสงฆ์และปกป้องภัยของพระพุทธศาสนาดังเดิม แต่กลับทำหน้าที่เป็นเพียง “เลขานุการ” ของคณะสงฆ์เท่านั้น ทำให้ “ความสัมพันธ์ ๓ เส้า” ระหว่างประชาชน พระสงฆ์ และรัฐ ซึ่งแต่เดิมมีความสมดุลและทำหน้าที่ตรวจสอบซึ่งกันและกัน ต้องแตกสลายลง

            เมื่อประชาชนไม่อาจควบคุมพระสงฆ์ในเชิงวัตถุได้อีก เวลามีพระสงฆ์ที่ประพฤติมิชอบเกิดขึ้น แม้ประชาชนจะรวมตัวกันต่อต้านคัดค้านพระสงฆ์ที่ต้องอธิกรณ์นั้น แต่ถ้าผู้บังคับบัญชาปกป้อง พระสงฆ์รูปนั้นก็ยังคงอยู่ได้ ส่วนรัฐเองก็ไม่อาจขจัดภัยที่เกิดขึ้นภายในคณะสงฆ์เองและภัยจากภายนอกได้ เพราะ พ.ร.บ.สงฆ์ ทั้ง ๓ ฉบับยกสงฆ์ให้เป็นใหญ่ในกิจการพระพุทธศาสนาทั้งปวง รัฐเป็นเพียงเลขานุการ และประชาชนถูกกีดกันให้อยู่วงนอก ภายใต้สภาพการณ์เช่นนี้ คณะสงฆ์เติบโตขึ้นโดยปราศจากการถ่วงดุลและการตรวจสอบทั้งจากภาคประชาชนและรัฐ ทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมถอยลงตามลำดับในรอบ ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา

พ.ร.บ.สงฆ์ในบริบทคณะสงฆ์

            การปฏิรูปพระพุทธศาสนาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) นั้น นอกจากการตีความคำสอนของพระพุทธศาสนาด้วยระบบเหตุผลนิยม (Rationalism) แล้ว ยังมีการจัดตั้งองค์กรการปกครองสงฆ์ขึ้นเป็นครั้งแรกอีกด้วย โดยให้เป็นไปตามแบบอย่างของฝ่ายอาณาจักร กล่าวคืออาณาจักรมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขสูงสุด ทำหน้าที่ปกครองประชาชนทั่วประเทศ ศาสนจักรก็มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุขสูงสุด ทำหน้าที่ปกครองพระสงฆ์ทั่วประเทศเช่นเดียวกัน แต่พระมหากษัตริย์ทรงมีเหล่าขุนนางทำหน้าที่ช่วยในการปกครอง ฝ่ายศาสนจักรขาดส่วนนี้ไป รัชกาลที่ ๔ จึงทรงจัดตั้ง “ธรรมยุติกนิกาย” ขึ้น โดยทรงชักชวนลูกขุนนางให้เข้ามาบวช เพื่อทำหน้าที่ช่วยสมเด็จพระสังฆราชในการปกครองพระสงฆ์ (ซึ่งเป็นลูกชาวบ้าน) ทั่วประเทศ นิกายธรรมยุติซึ่งเป็นพระสงฆ์ส่วนน้อยจึงได้อภิสิทธิ์เหนือ “มหานิกาย” ซึ่งเป็นพระสงฆ์ส่วนใหญ่นับแต่นั้นเป็นต้นมา

            พ.ร.บ.สงฆ์ นับตั้งแต่แรกเริ่มนั้นเน้นการปกครองภายในของคณะสงฆ์เป็นส่วนใหญ ่โดยตัดส่วนที่เป็นภาคประชาชนหรือชุมชนออกไป ส่วนภาครัฐนั้นเพียงแต่คงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชเท่านั้น เพิ่งจะมาถูกริดรอนพระราชอำนาจนี้ไปในการแก้ไข พ.ร.บ. สงฆ์ ฉบับที่ ๓ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ นี้เอง นับแต่นั้นมา “ความสัมพันธ์ ๓ เส้า” จึงสูญหายไปจนหมดสิ้น คณะสงฆ์จึงเติบโตขึ้นอย่างเอกเทศโดยปราศจากการตรวจสอบทั้งจากภาครัฐและประชาชน ระยะหลังยิ่งมีการรวบอำนาจในคณะสงฆ์มากขึ้นเท่าใด โดยพระหนุ่มเณรน้อยและพระสงฆ์ส่วนใหญ่ของประะเทศมิได้มีส่วนร่วมในการปกครองอยู่ด้วย คณะสงฆ์ก็ยิ่งเติบโต (แต่ส่วนบน) อย่างโดดเดี่ยวมากขึ้นเท่านั้น ปัญหาและภัยคุกคามพระพุทธศาสนา ทั้งจากภายในและจากภายนอกมิได้รับการแก้ไข ทำให้พระพุทธศาสนาในสังคมไทยเสื่อมลงโดยลำดับ

พ.ร.บ. สงฆ์ ฉบับที่ ๑

            พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับแรกประกาศใช้ในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ (ร.ศ. ๑๒๑) สมัยรัชกาลที่ ๕ ท่ามกลางการปฏิรูปทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมซึ่งรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง ก่อนหน้านั้นท้องถิ่นของไทยค่อนข้างมีอิสระ มีเจ้าเมืองซึ่งเป็นคนท้องถิ่นปกครอง เพียงแต่สวามิภักดิ์และส่งส่วยให้แก่กรุงเทพฯเท่านั้น การปฏิรูปในรัชกาลที่ ๕ ทำให้ท้องถิ่นของไทยต้องขึ้นต่อกรุงเทพฯ โดยตรง มีการส่งเจ้านายจากกรุงเทพฯ ไปเป็นเจ้าเมืองปกครองหัวเมืองต่าง ๆ การพึ่งพาตนเองทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในท้องถิ่นค่อย ๆ หมดไป

            การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางในครั้งนั้น ผลดีก็คือทำให้ประเทศชาติเกิดความเป็นปึกแผ่น มีเอกภาพภายใต้การนำของพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งต่างจากกรณีของพม่าที่มิได้มีการรวมศูนย์ในยุคนั้น ทำให้บ้านเมืองแตกแยกเป็นก๊กเป็นเหล่ามากมายในเวลาต่อมา กลายเป็นปัญหากระทั่งถึงปัจจุบัน ส่วนผลเสียก็คือระบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่กรุงเทพฯมากจนเกินไปนั้น ขัดต่อหลักการ “ประชาธิปไตย” และ “ประชาสังคม” ในเวลาต่อมา และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชนบทไทยล่มสลาย

            พ.ร.บ. สงฆ์ ฉบับที่ ๑ สอดคล้องกับการปกครองในระบอบ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจสูงสุดในการปกครอง ข้อดีของ พ.ร.บ. สงฆ์ ฉบับนี้ก็คือ คณะสงฆ์รวมกันเป็นปึกแผ่นภายใต้การบังคับบัญชาที่ชัดเจนของสมเด็จพระสังฆราช ให้วัดเป็นศูนย์กลางของการจัดการศึกษาแก่ประชาชนทั่วประเทศ โดยให้พระสงฆ์เป็นครูสอนหนังสือแก่นักเรียนทั่วประเทศ ทำให้พระพุทธศาสนากับการศึกษารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ยังผลให้เกิดศีลธรรมจรรยาที่ดีงามในหมู่ประชาชนทั้งหลาย ส่วนข้อเสียของ พ.ร.บ. สงฆ์ ฉบับนี้ก็คือ การนำเอา “ระบบราชการ” เข้ามาใช้ในคณะสงฆ์เป็นครั้งแรก การให้คุณให้โทษแก่พระสงฆ์ขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น มิได้ขึ้นอยู่กับประชาชนหรือชุมชนอีกต่อไป ทำให้ “ความสัมพันธ์ ๓ เส้า” ระหว่างประชาชน พระสงฆ์ และรัฐ สูญเสียไปเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

พ.ร.บ. สงฆ์ ฉบับที่ ๒

            พ.ร.บ. สงฆ์ ฉบับที่ ๒ ซึ่งประกาศใช้ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามนั้น สอดคล้องกับการปกครองในระบอบ “ประชาธิปไตย” อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แม้ว่าจอมพล ป. จะเป็นทหารและบางครั้งจะปกครองด้วยการใช้อำนาจก็ตาม แต่ด้วยจิตใจแบบ “คณะราษฎร์” จอมพล ป. จะใช้รูปแบบ “ประชาธิปไตย” ที่มีรัฐสภาในการปกครองเสมอ พ.ร.บ. สงฆ์ ฉบับนี้จึงสะท้อนถึงรูปแบบการปกครองของฝ่ายอาณาจักรอย่างชัดเจน

เนื้อหาใน พ.ร.บ. สงฆ์ ฉบับนี้แบ่งอำนาจออกเป็น ๓ ส่วนคือ

            ๑. สังฆสภา ทำหน้าที่นิติบัญญัติคล้ายรัฐสภา สมาชิกสังฆสภามาจากการสรรหาและแต่งตั้ง

            ๒. สังฆนายก ทำหน้าที่ประมุขฝ่ายบริหารคล้ายนายกรัฐมนตรี มี คณะสังฆมนตรี ทำหน้าที่คล้ายรัฐมนตรี ปกครอง “องค์การ” (คล้ายกระทรวง) ต่าง ๆ ๔ องค์การดังนี้

     ก. องค์การปกครอง
     ข. องค์การศึกษา
     ค. องค์การเผยแผ่
     ง. องค์การสาธารณูปการ

            ๓. คณะวินัยธร ทำหน้าที่ตัดสินคดีความคล้ายฝ่ายตุลาการ ประกอบด้วยศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา

            ข้อดีของ พ.ร.บ. สงฆ์ ฉบับนี้ก็คือ มีการกระจายอำนาจในการปกครองคณะสงฆ์ พระหนุ่มเณรน้อยหรือพระสงฆ์ชั้นผู้น้อยพอมีปากเสียงในการปกครองอยู่บ้าง และปัญหาภายในคณะสงฆ์ก็ได้รับการแก้ไขพอประมาณ ตามกระบวนการของ “ประชาธิปไตย” ในฝ่ายสงฆ์ ส่วนข้อเสียของ พ.ร.บ. สงฆ์ ฉบับนี้ก็คือ กระบวนการตรวจสอบอำนาจนั้นไปกระทำภายในบริบทของคณะสงฆ์เท่านั้น มิได้ขยายมาสู่ “ความสัมพันธ์ ๓ เส้า” ระหว่างประชาชน พระสงฆ์ และรัฐ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญแห่งความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ทำให้พระพุทธศาสนาไม่อาจหวนกลับคืนมาสู่ความรุ่งเรืองได้ดังในครั้งอดีต

พ.ร.บ. สงฆ์ ฉบับที่ ๓

            การกระทำรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้นำประเทศไทยเข้าสู่ยุคมืดแห่งการปกครองในระบอบเผด็จการทหาร หลังจากที่ได้ทำลายสถาบันประชาธิปไตยในฝ่ายอาณาจักรจนหมดสิ้นแล้ว จอมพลสฤษดิ์จึงเริ่มหันมาทำลายระบอบประชาธิปไตยในฝ่ายศาสนจักร โดยการฉีก พ.ร.บ. สงฆ์ ฉบับที่ ๒ ซึ่งมีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยทิ้ง แล้วประกาศใช้ พ.ร.บ. สงฆ์ ฉบับที่ ๓ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งมีเนื้อหาสอดคล้องกับการปกครองในระบอบ “เผด็จการทหาร” ของตนแทน

            โครงสร้างของ พ.ร.บ. สงฆ์ ฉบับที่ ๓ เป็นการรวบอำนาจภายในคณะสงฆ์ไว้ที่ “มหาเถรสมาคม” ซึ่งเป็นกลุ่มพระราชาคณะอาวุโสที่ได้รับการแต่งตั้งจำนวน ๒๐ กว่ารูป โดยมีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประมุขสูงสุด ทำหน้าที่ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการพร้อมกันไป ปกครองพระภิกษุสงฆ์ทั่วประเทศ นับเป็นการปกครองในระบอบ “คณาธิปไตย” ภายในคณะสงฆ์นับตั้งแต่นั้นมากระทั่งถึงปัจจุบัน

            ข้อดีของ พ.ร.บ. สงฆ์ ฉบับที่ ๓ นี้ก็คือ พระมหากษัตริย์ยังทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช นับว่า (ประมุขแห่ง) รัฐยังคงมีอำนาจการตรวจสอบคณะสงฆ์ในระดับหนึ่ง ส่วนข้อเสียของ พ.ร.บ. สงฆ์ ฉบับนี้ก็คือ คณะสงฆ์เติบโตโดยปราศจากการถ่วงดุลและการตรวจสอบจากภาคประชาชนและภาครัฐ ประชาชนและพระสงฆ์ชั้นผู้น้อยไม่มีสิทธิ์เสียงในการตรวจสอบการใช้อำนาจในคณะสงฆ์ และในกิจการพระพุทธศาสนาทั้งปวง ส่งผลให้ผู้มีอำนาจในคณะสงฆ์มั่งคั่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่พระเถระผู้มีอำนาจซึ่งส่วนใหญ่ชราภาพแล้ว ไม่อาจแก้ปัญหาภายในของคณะสงฆ์ รวมทั้งภัยคุกคามพระพุทธศาสนาทั้งจากภายในและจากภายนอกได้เลย ส่งผลกระทบให้พระพุทธศาสนาโดยรวมเสื่อมถอยลงเป็นลำดับ

            เมื่อครั้งที่คณะ “รักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” (ร.ส.ช.) กระทำรัฐประหารและแต่งตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราวภายใต้ระบอบเผด็จการทหารนั้น มีการแก้ไข พ.ร.บ. สงฆ์ ฉบับที่ ๓ บางมาตราในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ สาระสำคัญของการแก้ไขก็คือ แต่เดิมการเลื่อนตำแหน่งบริหารของพระราชาคณะด้วยการพิจารณา “อาวุโสโดยพรรษา” ถูกแทนที่ด้วย “อาวุโสโดยสมณศักดิ์” ผลที่ติดตามมาก็คือ มหาเถรสมาคมซึ่งเป็นผู้พิจารณาการแต่งตั้งสมณศักดิ์ เป็นผู้เสนอพระราชาคณะที่ “อาวุโสโดยสมณศักดิ์” สูงสุดเพียงรูปเดียว ขึ้นทูลเกล้าให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ มหาเถรสมาคม ได้สร้างระเบียบกฎเกณฑ์ขึ้นมา เพื่อริดรอนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยอันมีมาแต่ครั้งโบราณ ในการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช โดยในทางปฏิบัติแล้วมหาเถรสมาคมเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชเสียเอง

            พ.ร.บ. สงฆ์ ฉบับปี พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๓๕ จึงเป็น พ.ร.บ. สงฆ์ ฉบับเผด็จการเต็มรูปแบบ ซึ่งนอกจากภาคประชาชนและพระสงฆ์ชั้นผู้น้อยทั่วประเทศจะไม่มีส่วนร่วมเลยนั้น ยังได้ตัดฟางเส้นสุดท้ายของภาครัฐในการตรวจสอบคณะสงฆ์ออกไปด้วย นั่นคือ พระราชอำนาจของพระประมุขแห่งรัฐในการแต่งตั้งพระประมุขแห่งพุทธจักรไทย ทำให้ “ความสมพันธ์ ๓ เส้า” ระหว่างประชาชน พระสงฆ์ และรัฐ แตกสลายออกเป็น ๓ เสี่ยงอย่างสมบูรณ์ โดยไม่มีส่วนเชื่อมโยงกันอีกเลย

พ.ร.บ.สงฆ์ในบริบทภัยคุกคามจากภายนอก

            ในอดีตที่ผ่านมา พระพุทธศาสนาต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากภายนอกที่มาในรูปแบบต่าง ๆ หลายครั้งหลายหนตลอดประวัติศาสตร์ ทำให้พระพุทธศาสนาสูญสิ้นไปในดินแดนหลายแห่ง รวมทั้งในดินแดนซึ่งเป็นต้นกำเนิดของพระพุทธศาสนาเอง ภัยคุกคามนี้มาจากศาสนาและลัทธิความเชื่ออื่น ซึ่งมองพระพุทธศาสนาเป็นคู่แข่งหรือศัตรู จึงจ้องทำลายพระพุทธศาสนาทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงก็คือการเข้ารุกรานทำลายพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาแห่งสันติ ด้วยความเหี้ยมโหดป่าเถื่อนแห่งอำนาจทางทหาร หรือการยึดอำนาจในรัฐพระพุทธศาสนาและสถาปนาศาสนาอื่นขึ้นแทนที่ ส่วนทางอ้อมก็คือการตีความบิดเบือนคำสอนในพระพุทธศาสนาให้เป็นคล้ายดังศาสนาอื่น และถูกศาสนาอื่นกลืนไปในที่สุด

๑. การตีความลัทธิคำสอน

            เมื่อครั้งที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอยู่ในอินเดียนั้น มีพราหมณ์จำนวนมากเข้ามาบวชเรียนในพระพุทธศาสนา พรามหณ์จำนวนหนึ่งเข้ามาบวชด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในคำสอนของพระสมณโคดม และกลายเป็นกำลังสำคัญของพระพุทธศาสนาในที่สุด ส่วนพราหมณ์อีกจำนวนหนึ่งเข้ามาบวชเพื่อศึกษาจุดอ่อนจุดแข็งของพระพุทธศาสนา แล้วนำกลับไปปรับปรุงศาสนาพราหมณ์จนกลายเป็น “ศาสนาฮินดู” ที่มีคำสอนที่ลึกซึ้งกว่าเดิม เพื่อมาแข่งกับพระพุทธศาสนา ต่อมาเมื่อชาวพุทธในอินเดียเกิดความประมาท หันเหออกจาก “หลักการพึ่งตนเอง” ไปพึ่งพาอำนาจศักดิ์สิทธิ์ภายนอก พวกพราหมณ์จึงสบโอกาสหยิบยื่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ในศาสนาฮินดูให้ พร้อมทั้งตีความบิดเบือนว่า “นิพพาน” ไม่ต่างไปจาก “อาตมัน” (หรือ “อัตตา” ตัวตนที่แท้จริง) และพระพุทธเจ้าเป็นเพียงอวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์เท่านั้น ในที่สุดพระพุทธศาสนาก็สูญสิ้นไปจากอินเดียแผ่นดินอันเป็นแหล่งกำเนิดนั้นเอง

๒. การรุกรานด้วยกำลังทหาร

            เมื่อครั้งที่พระพุทธศาสนาได้แพร่หลายโดยสันติวิธี และเจริญรุ่งเรืองอยู่ในเอเชียกลางเป็นเวลานับพันปีนั้น มีการสร้างโบราณสถานและโบราณวัตถุทางพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก (ที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันก็ได้แก่ พระพุทธรูปหินสลักที่สูงที่สุดในโลก ที่เทือกเขาบามิยันในประเทศอัฟกานิสถาน ซึ่งเพิ่งถูกอดีตรัฐบาลทาลีบันทำลายลงเมื่อเร็ว ๆ นี้ ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากอารยประเทศทั่วโลก เป็นต้น) จนกระทั่งกองทัพอิสลามได้ใช้กำลังทหารเข้ารุกรานดินแดนเอเชียกลางทั้งหมด รวมทั้งรุกรานตอนเหนือของอินเดีย มีการเผาทำลายวัดวาอารามในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก ที่น่าสลดใจที่สุดก็คือ การเข่นฆ่าพระภิกษุในพระพุทธศาสนา การเผาทำลายมหาวิทยาลัยนาลันทา และห้องสมุดที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นสถานที่เก็บรวบรวมหนังสืออันทรงคุณค่าทางปรัชญาและศาสนาเป็นจำนวนมาก ทำให้พระพุทธศาสนาสูญสิ้นไปจากดินแดนเอเชียกลางและทางเหนือของอินเดียอย่างรวดเร็ว

๓. การยึดอำนาจรัฐ

            อาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งมีอาณาเขตนับตั้งแต่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานีของไทยลงไปจรดแหลมมาลายู รวมทั้งหมู่เกาะสุมาตราและหมู่เกาะชวาทั้งหมดนั้น ครั้งหนึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองด้วยพระพุทธศาสนา มีประจักษ์พยานสำคัญคือ “บรมพุทโธ” โบราณสถานทางพระพุทธศาสนาอันเก่าแก่ในเกาะชวา (ปัจจุบันสหประชาชาติกำลังเข้าไปบูรณะฟื้นฟูในฐานะที่เป็นมรดกโลก) รวมทั้งโบราณสถานและโบราณวัตถุทางพระพุทธศาสนาอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก พระมหากษัตริย์ผู้ปกครองอาณาจักรศรีวิชัยแต่เดิมนั้นทรงเป็นพุทธมามกะ ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองอยู่ในอาณาจักรศรีวิชัยติดต่อกันหลายรัชสมัย ต่อมาเมื่อผู้เลื่อมใสในศาสนาอื่นเข้ายึดกุมอำนาจการปกครองได้สำเร็จ และได้สถาปนาศาสนาอื่นขึ้นแทนที่ พระพุทธศาสนาจึงต้องถึงกาลเสื่อมสูญไปจากอาณาจักรศรีวิชัยอย่างรวดเร็ว คงเหลือแต่ดินแดนทางตอนเหนือ อันเป็นอาณาเขตของประเทศไทยในปัจจุบันเท่านั้น ที่ยังคงรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้

            บทเรียนประวัติศาสตร์ดังกล่าว จะต้องถูกนำมาพิจารณาในการร่าง พ.ร.บ. คณะสงฆ์ หรือ พ.ร.บ. พระพุทธศาสนาฉบับใหม่ เพื่อเป็นการปกป้องพระพุทธศาสนาจากภัยคุกคามเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรุกทางวัฒนธรรม เช่น การตีความบิดเบือนคำสอน การใช้ศัพท์บัญญัติ รูปแบบประเพณีวัฒนธรรมชาวพุทธของศาสนาอื่น เป็นต้น และการรุกทางนิติบัญญัติ เพื่อการเข้ายึดกุมอำนาจรัฐของศาสนิกในศาสนาอื่น รวมทั้งภัยที่มาในอีกหลากหลายรูปแบบ สิ่งเหล่านี้ควรที่ชาวพุทธในทุกหมู่เหล่าทั้งพระสงฆ์ ประชาชน และรัฐจะร่วมมือกัน เพื่อยกร่าง พ.ร.บ. พุทธบริษัทสี่ หรือ พ.ร.บ. พระพุทธศาสนาแห่งชาติฉบับใหม่ขึ้น เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปพระพุทธศาสนา ให้สามารถแก้ปัญหาและขจัดภัยคุกคามทั้งจากภายในและจากภายนอก รวมทั้งเผชิญกับความท้าทายอย่างใหม่ ๆ ของยุคสมัยปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้

พ.ร.บ. พุทธบริษัทสี่

            สาระสำคัญของการยกร่าง พ.ร.บ. พุทธบริษัทสี่ หรือ พ.ร.บ. พระพุทธศาสนาแห่งชาตินั้น อยู่ที่โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน พระสงฆ์ และรัฐ อันเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญสามประการ กล่าวคือ

            รัฐนั้นจะต้องถอนคืนระบบราชการออกจากคณะสงฆ์ ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาโดยองค์รวมอยู่ห่าง ๆ โดยการจัดสรรงบประมาณให้ และปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนาจากปัญหาภายใน เช่น การขจัดผู้ปลอมปนมาบวช และการตรวจสอบพระสงฆ์ที่ต้องอธิกรณ์ เป็นต้น อีกทั้งปกป้องคุ้มครองอารักขาพระพุทธศาสนาจากปัญหาที่มาจากภายนอก เช่น สงคราม การรุกเชิงนิติบัญญัติและการรุกเชิงวัฒนธรรมเพื่อยึดกุมพื้นที่ของพระพุทธศาสนา หรือการรุกรานบ่อนทำลายในรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น ส่วนการบริหารจัดการภายในของพระพุทธศาสนานั้น พุทธบริษัทสี่ อันได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ควรจะได้รับโอกาสให้สามารถดูแลกันเอง

            โดยหลักการที่ถูกต้องแล้ว ประชาชนควรจะสามารถควบคุมพระสงฆ์ได้ในเชิงชีวิตความเป็นอยู่ทางร่างกาย เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค รวมทั้งการก่อสร้างศาสนสถานและศาสนวัตถุ เป็นต้น ประชาชนควรจะได้เป็นผู้คัดเลือกพระภิกษุสามเณรที่จะมาพำนักอยู่ในวัด หรือสำนักสงฆ์ในชุมชนของตน ประชาชนควรจะเป็นผู้คัดเลือกพระอุปัชฌาย์ เจ้าอาวาส รวมทั้งเป็นผู้ยกย่องพระภิกษุสงฆ์ด้วยการเสนอสมณศักดิ์ต่าง ๆ ให้ (ถ้าหากจะคงระบบสมณศักดิ์ไว้)

            ส่วนพระสงฆ์นั้นมีหน้าที่หลักคือการศึกษาพระธรรมวินัยและประพฤติปฏิบัติธรรม สั่งสอนประชาชนในด้านศีลธรรมและสัจธรรม เป็นที่พึ่งทางจิตใจแก่ประชาชน และอาจเป็นผู้นำของประชาชนในการแก้ไขปัญหาสังคมต่าง ๆ เช่น ปัญหาความยากจนในชนบท ปัญหายาเสพติด ปัญหาโรคเอดส์ และอื่น ๆ รวมทั้งเป็นผู้นำทางสติปัญญา โดยการชี้นำสังคมและโลกให้ออกจากวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ตามหลักการของพระพุทธศาสนา เป็นต้น

            เนื้อหาสาระของ พ.ร.บ. พุทธบริษัทสี่ นั้น จะต้องมีพระธรรมวินัยเป็นหลักการอันสำคัญ โดยมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่พระนิพพาน พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นผู้แต่งตั้งองค์สมเด็จพระสังฆราช ตามราชประเพณีที่เคยปฏิบัติมาตั้งแต่ครั้งอดีต ส่วนโครงสร้างของ พ.ร.บ. พุทธบริษัทสี่ จะเน้นความเป็น “ประชาสังคม” (Civil Society) กล่าวคือ การกระจายอำนาจ และระบบการตรวจสอบซึ่งกันและกัน ในหมู่พุทธบริษัทสี่ทั้งฝ่ายบรรพชิตและฆราวาส โดยแบ่งอำนาจออกเป็น ๓ ฝ่ายคือ สภาพุทธบริษัท คณะบริหารการพระพุทธศาสนา และคณะวินัยธร ดังนี้

๑. สภาพุทธบริษัท

            สภาพุทธบริษัท (ส่วนกลาง) ประกอบด้วย “พุทธศาสนิกสภา” หรือสภาล่าง มี อุบาสก และอุบาสิกา (รวมทั้งแม่ชี) ประกอบขึ้นเป็นสมาชิกสภา โดยสัดส่วนของเพศชายและเพศหญิงในสภานี้ แต่ละเพศไม่เกิน ๒ ใน ๓ ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ที่มาของสมาชิกสภาล่างนี้อาจมาจากการเลือกตั้งโดยตรง หรือจากการสมัครและเลือกตั้งกันเองจากผู้สมัครทั้งหมด (แบบ ส.ส.ร.) โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๔ ปี หน้าที่ของ “พุทธศาสนิกสภา” คือการออกกฎระเบียบโดยรวม เพื่อความเจริญรุ่งเรืองแห่งพระพุทธศาสนา และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของพุทธบริษัทสี่

            ส่วน “สังฆสภา” นั้นทำหน้าที่เป็นสภาสูง สมาชิกสภาประกอบด้วยภิกษุ (และภิกษุณี ถ้าหากจะมีในวันข้างหน้า) ที่มาของสภาสูงนี้อาจมาจากการเลือกตั้ง หรือจากการสมัครและเลือกตั้งกันเองจากผู้สมัครทั้งหมด หรือจากการสรรหา สุดแล้วแต่ความเหมาะสม ทั้งนี้ควรจะพิจารณาความรู้ความสามารถเป็นเกณฑ์ ไม่ใช้ระบบสมณศักดิ์ ระบบอาวุโสโดยพรรษา หรือระบบอาวุโสโดยสมณศักดิ์ เป็นเกณฑ์ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๔ ปี หน้าที่ของ “สังฆสภา” คือ การกลั่นกรองกฎระเบียบที่สภาล่างเป็นผู้เสนอ

            นอกจากนี้ ยังอาจจัดตั้งสภาพุทธบริษัทในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ระดับตำบล และระดับหมู่บ้านได้อีกด้วย โดยมีโครงสร้างในทำนองเดียวกับสภาพุทธบริษัทส่วนกลาง ทำหน้าที่พิจารณาปัญหาระดับท้องถิ่น และออกกฎระเบียบที่เหมาะสมกับชุมชนท้องถิ่นของตน

๒. คณะบริหารการพระพุทธศาสนา

            คณะบริหารการพระพุทธศาสนา ควรเป็นหน้าที่ของฝ่ายฆราวาสมากกว่า ตามหลักการที่ว่า ประชาชนควบคุมพระสงฆ์ในทางวัตถุ (ทางโลก หรือการบริหารจัดการองค์การ) ส่วนพระสงฆ์ควบคุมประชาชนในทางจิตใจ (ทางธรรม หรือการสั่งสอนธรรมะ ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ) คณะบริหารการพระพุทธศาสนา ประกอบด้วย “เลขาธิการพุทธบริษัท” ทำหน้าที่เป็นประธานของฝ่ายบริหาร และองค์การบริหารต่าง ๆ (อาจปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม) ดังต่อไปนี้

     ๑. องค์การศึกษา
     ๒. องค์การเผยแผ่
     ๓. องค์การสาธารณูปการ
     ๔. องค์การปกครอง
     ๕. องค์การอื่น ๆ ฯลฯ

            ที่มาของ “เลขาธิการพุทธบริษัท” อาจมาจากการเสนอชื่อโดยสภาพุทธบริษัทในทุกระดับ แล้วนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาพุทธบริษัทส่วนกลาง เพื่อกลั่นกรองให้เหลือรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิและมีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วนเท่านั้น จากนั้นให้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อประกาศรายชื่อบุคคลที่จะมาร่วมทีมบริหารทั้งชุด แล้วให้สภาพุทธบริษัทในทุกระดับลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง (หรืออาจจะให้ประชาชนชาวพุทธเลือกตั้งโดยตรงก็ได้) โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๔ ปี

๓. คณะวินัยธร

            คณะวินัยธร (ศาลสงฆ์) เป็นหน้าที่ของรัฐด้วยความร่วมมือของคณะสงฆ์ ในการพิจารณาอธิกรณ์ต่าง ๆ ของพระภิกษุสามเณรตามกฎนิคหกรรม ประกอบด้วย

            ๑. ศาลชั้นต้น
           
๒. ศาลอุทธรณ์
           
๓. ศาลฎีกา

            คณะวินัยธรเป็นส่วนหนึ่งแห่งอำนาจตุลาการของรัฐ ที่มาของคณะวินัยธรเป็นไปตามขั้นตอนของฝ่ายตุลาการ โดยการปรึกษาหารือกับสภาพุทธบริษัท และคณะบริหารการพระพุทธศาสนา โดยผู้พิพากษาผู้จะมาทำหน้าที่ในคณะวินัยธร จะต้องเป็นผู้ทรงความรู้ด้านพระวินัยและหลักนิติศาสตร์

            สภาพุทธบริษัท คณะบริหารการพระพุทธศาสนา และคณะวินัยธร จะต้องมีสถานที่หรือสำนักงานที่แน่นอน และมีเจ้าหน้าที่ประจำทุกแห่ง เพื่อความสะดวกในการติดต่อและประสานงาน นอกจากนี้อาจจะมีหน่วย “ตำรวจพุทธกิจ” ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับตำรวจเทศกิจ ทำหน้าที่เป็นกำลังให้แก่พุทธบริษัทสี่ในกิจการทั้งปวงแห่งพระพุทธศาสนา รวมทั้งมีหน้าที่จับผู้ต้องอาบัติปาราชิกสึกตามคำสั่งของคณะวินัยธร อีกทั้งร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติทำหน้าที่ปกป้องศาสนวัตถุและทรัพย์สินอื่น ๆ ในพระพุทธศาสนา หน่วย “ตำรวจพุทธกิจ” นี้อาจขึ้นตรงต่อองค์การปกครองแห่งคณะบริหารการพระพุทธศาสนาได้

            สำหรับการบริหารวัดนั้น อาจนำรูปแบบการแบ่งองค์การข้างต้นมาประยุกต์ใช้ได้ โดยอาจมีคณะกรรมการ ๒ ชุดคือ “คณะกรรมการฝ่ายพุทธศาสนิก” (คล้ายสภาล่าง) ประกอบด้วยตัวแทนอุบาสกและอุบาสิกาในชุมชน ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและทิศทางในการบริหารวัด และ “คณะกรรมการฝ่ายสงฆ์” (คล้ายสภาสูง) ประกอบด้วยเจ้าอาวาสและตัวแทนของพระภิกษุสามเณรในวัด ทำหน้าที่กลั่นกรองนโยบายของฝ่ายพุทธศาสนิก คณะกรรมการทั้ง ๒ ชุดร่วมกันจัดตั้งคณะบริหารวัดขึ้น ทำหน้าที่บริหารวัดตามนโยบายและทิศทางที่ได้กำหนดไว้

            ระบบการตรวจสอบการทุจริต และประพฤติมิชอบ (Impeachment) ในการตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะบริหารการพระพุทธศาสนานั้น ควรจะมีหน่วยงานอิสระเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานและความโปร่งใส โดยอาจจะมีหน่วยงานดังนี้

     ๑. “คณะกรรมการตรวจเงินการพระพุทธศาสนา” เป็นหน่วยงานอิสระ ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของฝ่ายบริหารการพระพุทธศาสนา ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถ และเข้าใจระบบการเงินเป็นอย่างดี
     ๒. “คณะกรรมการ ปปช. การพระพุทธศาสนา” เป็นหน่วยงานอิสระ มีอำนาจไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในการพระพุทธศาสนา
     ๓. “ผู้ตรวจการพระพุทธศาสนาของสภาพุทธบริษัท” เป็นหน่วยงานอิสระ มีหน้าที่คอยตรวจสอบความทุกข์ร้อนของประชาชนในส่วนที่เกี่ยวกับการพระพุทธศาสนา ทำรายงานเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทราบ แต่ไม่มีอำนาจสั่งการหรือพิพากษาโดยตรง เพียงแต่สามารถทำรายงานเสนอสภาพุทธบริษัท และพิมพ์เผยแพร่เพื่อให้สาธารณชนรับทราบได้
ที่มาของคณะกรรมการทั้ง ๓ ชุดนี้ อาจมาจากการแต่งตั้งของสภาพุทธบริษัทในส่วนกลาง โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งที่ยาวนานพอสมควร (เช่น ๙ ปี) และจะได้รับการแต่งตั้งเกินหนึ่งวาระติดต่อกันไม่ได้
     ๔. “ตุลาการอาญาธร” เป็นองค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นเฉพาะกรณี มีหน้าที่พิจารณาความผิด เช่นการทุจริตหรือการประพฤติมิชอบ ของฝ่ายบริหารการพระพุทธศาสนาเป็นกรณี ๆ ไป ที่มาของตุลาการอาญาธร ส่วนหนึ่งอาจมาจากการแต่งตั้งของสภาพุทธบริษัทในส่วนกลาง และอีกส่วนหนึ่งอาจมาจากการแต่งตั้งของที่ประชุมศาลฎีกาในคณะวินัยธร ถ้าหากมิได้ตั้ง “ตุลาการอาญาธร” ก็อาจอนุโลมใช้ตุลาการทางฝ่ายบ้านเมืองแทนก็ได้

            การที่ พ.ร.บ. พุทธบริษัทสี่ กำหนดให้ฆราวาสมีบทบาทในการบริหารจัดการการพระพุทธศาสนานั้น ในทางหนึ่งก็เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์มีเวลามากพอในการศึกษาและปฏิบัติธรรม อันเป็นหน้าที่สำคัญของพระสงฆ์ ตามหลักแห่งไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา) เพื่อนำความรู้จากการศึกษาปฏิบัตินั้นมาสั่งสอนประชาชน เหตุที่จะก่อให้เกิดเรื่องอื้อฉาวต่าง ๆ ก็จะลดน้อยลง ในอีกทางหนึ่งก็เพื่อให้ฆราวาสได้เข้ามาทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาโดยตรง และส่งเสริมพระภิกษุสามเณรในด้านการศึกษาและการปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ ไม่ต้องมาพะวงกับเรื่องการบริหารศาสนสถานหรือศาสนวัตถุ ตามหลักการที่ว่า “ประชาชนควบคุมพระสงฆ์ในเชิงวัตถุ และพระสงฆ์ควบคุมประชาชนในเชิงจิตใจ” อันเป็นหลักการที่ยังความเข้มแข็งมาสู่พระพุทธศาสนา และทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองบนผืนแผ่นดินไทยจากอดีตจวบถึงปัจจุบันเป็นเวลานับพันปี

 

การคืนอำนาจแก่ประชาชน

            ทางเลือกอีกทางหนึ่งในเรื่อง พ.ร.บ. คณะสงฆ์ หรือ พ.ร.บ. พระพุทธศาสนาแห่งชาติก็คือ การคืนอำนาจแก่ประชาชน เนื่องจาก พ.ร.บ. คณะสงฆ์ที่ผ่านมา ได้ทำให้ความสัมพันธ์ที่สมดุลระหว่างพระสงฆ์ ประชาชน และรัฐ อันเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญ แห่งความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาของไทย ต้องแตกสลายลง ประวัติศาสตร์ ๑๐๐ ปีแห่ง พ.ร.บ. คณะสงฆ์ จึงเป็นประวัติศาสตร์แห่งความเสื่อมถอยของพระพุทธศาสนาในสังคมไทยมาโดยลำดับ แม้ว่าจะเกิดนักปราชญ์อย่างเช่น พุทธทาสภิกขุ และพระธรรมปิฎก ในช่วงเวลาดังกล่าวขึ้นก็ตาม ก็มิอาจหยุดยั้งความเสื่อมนี้ไว้ได้

            การยกเลิก พ.ร.บ. คณะสงฆ์ จึงนับเป็นการคืนอำนาจแก่ชุมชนและประชาชน โดยให้พระสงฆ์อยู่ภายใต้การดูแลและการตรวจสอบของประชาชนในชุมชน ในเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ในเชิงวัตถุ ภายใต้ภาวะการณ์เช่นนี้พระสงฆ์ที่ดีจะอยู่ได้ และผู้ที่ปลอมปนมาบวชเพื่อแสวงหาลาภสักการะในพระศาสนาจะถูกประชาชนในชุมชนขจัดออกไป ขณะเดียวกันพระสงฆ์จะกลายเป็นที่พึ่งที่แท้จริงของชุมชน และเป็นผู้นำทางจิตใจที่สั่งสอนสัจธรรมและอบรมศีลธรรมแก่ประชาชน ความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาจะหวนกลับคืนสู่สังคมไทยในระดับรากหญ้าอีกครั้งหนึ่ง

            ส่วนรัฐนั้นอาจจะมีหน่วยงานที่ประกอบด้วยผู้รู้ คอยทำหน้าที่ปกป้องภัยให้แก่พระพุทธศาสนา ทั้งภัยภายใน เช่น คอยสอดส่องผู้ที่ปลอมปนมาบวชเพื่อแสวงหาลาภสักการะในรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น และภัยจากภายนอก เช่น การรุกทั้งในเชิงนิติบัญญัติและเชิงวัฒนธรรมของลัทธิความเชื่อนอกพระพุทธศาสนา ที่มุ่งยึดครองพื้นที่ ทรัพยากร (โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณแผ่นดิน) และศาสนิกของพระพุทธศาสนา อันเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในสังคมไทย

บทสรุป

            การออกพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ฉบับแรกในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ (ร.ศ. ๑๒๑) นั้น ได้นำความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงมาสู่โครงสร้างของคณะสงฆ์ไทย ทำให้คณะสงฆ์ทั้งคณะตกอยู่ภายใต้ระบบราชการไทย ราชการเป็นผู้ให้คุณให้โทษแก่พระสงฆ์ มิใช่ประชาชนดังเช่นในอดีต ระบบการควบคุมซึ่งกันและกันระหว่างประชาชนกับพระสงฆ์ กล่าวคือประชาชนควบคุมพระสงฆ์ในเชิงวัตถุ และพระสงฆ์ควบคุมประชาชนในเชิงจิตใจได้ค่อย ๆ หมดไป

            พ.ร.บ. คณะสงฆ์ฉบับที่สองซึ่งออกในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ นั้น แม้ว่าจะสอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยมีการแยกอำนาจเป็นสังฆสภา คณะสังฆมนตรีภายใต้การนำของสังฆนายก และคณะวินัยธรก็ตาม แต่ระบบราชการในคณะสงฆ์ก็ยังคงอยู่ และโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับพระสงฆ์ก็ยังมิได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น

            การออก พ.ร.บ. คณะสงฆ์ฉบับที่สามในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ในยุคเผด็จการทหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั้น ทำให้คณะสงฆ์ตกอยู่ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการและความอ่อนแอล้าหลังของระบบราชการ การแก้ไขปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ในยุคเผด็จการทหารของ ร.ส.ช. นั้น นับเป็นการตัดฟางเส้นสุดท้ายของการตรวจสอบอำนาจระหว่างรัฐและคณะสงฆ์ออกไปอย่างสิ้นเชิง ทำให้ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ฉบับนี้ซึ่งยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน เป็นเผด็จการเต็มรูปแบบ และกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการแก้ไขปัญหาของคณะสงฆ์ไทย

            ความพยายามในการออก พ.ร.บ. คณะสงฆ์ฉบับใหม่ โดยการยึดถือโครงสร้างเก่าของฉบับปี พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นบรรทัดฐานนั้น จึงมิได้เป็นการยกร่างกฎหมายใหม่เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้พระพุทธศาสนาดีขึ้นแต่อย่างใด แม้ว่าจะมีการผลักดันให้กลุ่มพระที่หนุ่มกว่า (ที่เรียกกันว่า “มหาคณิสสร”) ขึ้นมาผูกขาดอำนาจแทนมหาเถรสมาคมก็ตาม แต่เผด็จการโดยคนหนุ่มจะแตกต่างอะไรไปจากเผด็จการโดยคนแก่ และอย่างไหนจะอันตรายกว่ากัน ความสัมพันธ์ขั้นพื้นฐานระหว่างประชาชน พระสงฆ์ และรัฐนั้นมิได้รับการเอ่ยถึงแต่อย่างใด

            การออก พ.ร.บ. คณะสงฆ์ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่หมักหมมมายาวนาน และการปฏิรูปพระพุทธศาสนาสู่ความรุ่งเรืองนั้น หลักการและสาระสำคัญน่าจะอยู่ที่ การถ่วงดุล และการตรวจสอบอำนาจซึ่งกันและกัน ระหว่างพระสงฆ์ ประชาชน และรัฐ ไม่ว่าการถ่วงดุลและการตรวจสอบนั้นจะอยู่ในรูปการตราพระราชบัญญัติหรือไม่ก็ตาม หากความสัมพันธ์ขององค์ประกอบพื้นฐานทั้งสามนี้ดำเนินไปอย่างถูกต้องแล้ว พระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าจะได้รับการเชิดชู อลัชชีในพระพุทธศาสนาจะถูกขจัดออกไป และภัยจากลัทธิความเชื่อนอกพระพุทธศาสนาจะมิอาจเข้ามาย่ำยีได้ ตรงกันข้ามพระพุทธศาสนาจะให้ความร่มเย็น ทั้งแก่ชาวพุทธและศาสนิกของศาสนาอื่นในสังคมไทย บนพื้นฐานแห่งการไม่เบียดเบียนกัน ภายใต้บรรยากาศเช่นนี้พระพุทธศาสนาจะกลับฟื้นคืนสู่ความเจริญรุ่งเรืองบนผืนแผ่นดินไทยอีกครั้งหนึ่ง และจะเป็นที่พึ่งแก่ชาวโลกในการแก้ไขวิกฤตการณ์นานาประการที่โลกเผชิญอยู่ในปัจจุบัน.

ที่มา.- เสขิยธรรมฉบับ ๕๔


*******************

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖

ไป Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี